คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: วิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบการปลูกพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
วิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบการปลูกพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
จิรัสชญาพร รณเรืองฤทธิ์

          โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบการปลูกพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อศึกษาวิจัยให้ได้ข้อมูลการจัดการ และพัฒนารูปแบบการปลูกพืชแบบผสมผสานในระบบการปลูกพืชผักอินทรีย์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมในระบบการผลิตพืชผักในระบบอินทรีย์และเพื่อพัฒนาเกษตรกรต้นแบบและสร้างเครือข่ายการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 พัฒนาต้นแบบการจัดระบบการผลิต และจัดการดิน ปุ๋ยพืชผักตามระบบเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กิจกรรมที่ 2 การวิจัยพัฒนาต้นแบบการจัดการดินและปุ๋ยพืชผักตามระบบเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการในพื้นที่แปลงเกษตรกรพื้นที่ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ และตำบลหนองแวง อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – กันยายน 2560 ทั้งสองกิจกรรมเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมบัติดิน สมบัติปุ๋ยอินทรีย์ (ธาตุอาหาร ความหนาแน่น โลหะหนัก) ข้อมูลผลผลิต รายได้ ผลตอบแทน การประเมินความพึงพอใจ

          ผลการทดลองพบว่า กิจกรรมที่ 1 พัฒนาต้นแบบการจัดระบบการผลิต และจัดการดิน ปุ๋ยพืชผักตามระบบเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ดินมีปริมาณอินทรียวัตถุที่เพิ่มขึ้น การปลูกพืชร่วมในระบบทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไร่ละ 6,175 บาท เกษตรกรทั้งหมดมีความพึงพอใจในระบบปลูกพืช ส่วนกิจกรรมที่ 2 การวิจัยพัฒนาต้นแบบการจัดการดินและปุ๋ยพืชผักตามระบบเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พบว่าดินมีปริมาณอินทรียวัตถุที่เพิ่มขึ้น การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตราตามค่าวิเคราะห์ดินและค่าวิเคราะห์ปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่า เนื่องจากต้นทุนค่าปุ๋ยลดลงทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนมากกว่า โดยพบว่าการใส่ปุ๋ยคะน้าอัตราแนะนำช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรในพื้นที่เฉลี่ยไร่ละ 1,875 บาท ขณะที่การใส่ปุ๋ยข้าวโพดอัตราแนะนำทำให้ต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยไร่ละ 1,928.50 บาท แต่สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยไร่ละ 4,240 บาท ขณะที่การใส่ปุ๋ยฟักทองอัตราแนะนำช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรในพื้นที่เฉลี่ยไร่ละ 332 บาท และโครงการนี้ยังสามารถสร้างเกษตรกรต้นแบบ ได้แก่ นายพิทักษ์ บุญเอก รวมทั้งเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่ ตำบลหนองแวง อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์ด้วย