คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสข้าวโพดหวานในแหล่งปลูกที่สำคัญ
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสข้าวโพดหวานในแหล่งปลูกที่สำคัญ
เชาวนาถ พฤทธิเทพ, สิทธิศักดิ์ แสไพศาล, ปวีณา ไชยวรรณ์, พีะวรรณ พัฒนวิภาส, ศิวิไล ลาภบรรจบ และอนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         สำรวจและเก็บตัวอย่างใบข้าวโพดหวานที่แสดงอาการของโรคไวรัสในแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นครราชสีมา และหนองคาย รวมจำนวน 9 จังหวัด ดำเนินการสำรวจในปี 2560 โดยสุ่มเก็บตัวอย่างแบบเจาะจงต้นที่แสดงอาการของโรคจังหวัดละ 20 - 30 แปลง รวมจำนวนตัวอย่างที่เก็บทั้งหมด 376 ตัวอย่าง พบว่าใบข้าวโพดหวานแสดงอาการผิดปกติที่แตกต่างกัน เช่น อาการด่าง (mosaic) ด่างเหลือง (yellow mosaic) ด่างจุดประ (chlorotic mottle) ด่างเป็นขีด (streak) อาการแถบเหลือง (yellow stripe) ด่างเป็นวง (ringspot mosaic) และอาการเตี้ยแคระ (dwarf) ซึ่งอาการอาจพบเดี่ยวๆ หรือพบร่วมกัน ผลการตรวจสอบเชื้อไวรัส sugarcane mosaic virus (SCMV), maize dwarf mosaic virus (MDMV) และ maize chlorotic mottle virus (MCMV) ด้วยวิธี indirect enzyme-linked immunosorbent assay (Indirect ELISA) พบเชื้อไวรัส SCMV MDMV และ MCMV รวมจำนวน 275 230 และ 232 ตัวอย่าง คิดเป็น 73.1 61.2 และ 61.7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยตรวจพบเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิด จากตัวอย่างใบข้าวโพดหวานที่เก็บจากทุกจังหวัด ยกเว้นตัวอย่างที่เก็บจากแปลงเกษตรกรจังหวัดเชียงรายและจังหวัดหนองคายที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัส MDMV และ MCMV และตัวอย่างที่เก็บจากจังหวัดนครปฐม ตรวจไม่พบเชื้อไวรัส SCMV ในทุกตัวอย่างที่ตรวจสอบ