คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การสำรวจสถานภาพของแบคทีเรีย Clavibacter michiganensis subsp. nebraskensis สาเหตุโรค
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การสำรวจสถานภาพของแบคทีเรีย Clavibacter michiganensis subsp. nebraskensis สาเหตุโรค Goss's Bacterial Wilt and Leaf Blight ของข้าวโพดในประเทศไทย
ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล, ทิพวรรณ กันหาญาติ, รุ่งนภา ทองเคร็ง และชลธิชา รักใคร่
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช 

          ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นทีปลูกประมาณ 7 ล้านไร่ ประเทศไทยสั่งนำเข้าเมล็ดข้าวโพดเพื่อการบริโภคและใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นเส้นทาง (pathway) ของศัตรูพืชกักกันที่สำคัญที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ โรคเหี่ยว (Goss's Bacterial Wilt of corn) หรือ โรคใบไหม้ (Leaf Blight of corn) โรคที่สำคัญของข้าวโพด และเป็นศัตรูกักกันพืชของประเทศไทย เชื้อสาเหตุเกิดจากแบคทีเรีย Clavibacter michiganensis subsp. nebraskensis เชื้อสามารถถ่ายทอดได้ทางเมล็ดพันธุ์ (seed transmission) ทำให้มีความเสี่ยงที่แบคทีเรีย C. michiganensis subsp. nebraskensis อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ จำเป็นต้องมีการสำรวจสถานภาพของแบคทีเรีย C. michiganensis subsp. nebraskensis ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ในการกำหนดศัตรูพืชกักกัน การจัดทำวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชในการนำข้าวโพดจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นข้อมูลในการเจรจาการค้าเพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกและนำเข้าข้าวโพดในอนาคต จากการสำรวจแหล่งปลูกข้าวโพด 5 แหล่งปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 - กันยายน 2559 จำนวน 50 แปลง ได้แก่ เชียงราย จำนวน 10 แปลง เชียงใหม่ จำนวน 10 แปลง แพร่ จำนวน 10 แปลง นครสวรรค์ จำนวน 10 แปลง นครราชสีมา จำนวน 10 แปลง จากการสำรวจไม่พบลักษณะอาการของโรคเหี่ยว (Goss’ bacterial wilt) พบแต่ลักษณะอาการใบไหม้ เก็บตัวอย่างต้องสงสัยทั้งหมด 20 ตัวอย่าง นำมาตรวจจำแนกในห้องปฏิบัติการผลการตรวจพบว่าตัวอย่างทั้งหมดไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย C. michiganensis subsp. nebraskensis