คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดใบห้อม
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดใบห้อม
วิมลวรรณ วัฒนวิจิตร, นราทร สุขวิเสส, ประยูร เอ็นมาก, ประนอม ใจอ้าย, ศิวัช พลายเสน และนภัสสร เลียบวัน
กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูผผลิตผลเกษตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่

          การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดใบห้อมดำเนินการทดลองที่กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ระหว่างปี 2561 – 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถต้านอนุมูลอิสระและการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคผิวหนังของสารสกัดใบห้อมจาก ตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ น้ำ เอทานอล และเอทิลอะซีเตด พบว่าสารสกัดใบห้อมจากตัวทำละลายทั้ง 3 ชนิด มีความสามารถต้านอนุมูลอิสระ DPPH. และ ABTS. ต่ำกว่าวิตามินซี โดยสารสกัดใบห้อมด้วยเอทานอลจะมีความสามารถต้านอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS สูงกว่าสารสกัดใบห้อมจากตัวทำละลายอีก 2 ชนิด โดยสารสกัดใบห้อมด้วยเอทานอล และเอทิลอะซีเตด มีความสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อยีสต์ได้ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ S. aureus S. epidermidis B. subtilis C. albicans และ P. acnes ส่วนสารสกัดใบห้อมด้วยน้ำความสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย S. Aureus S. epidermidis และ P. acnes โดยสารสกัดใบห้อมด้วยเอทานอลและเอทิลอะซีเตดมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ S. epidermidis เท่ากับ 15.62 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ดังนั้นสารสกัดใบห้อมด้วยเอทานอลมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาได้ เนื่องจากมีความสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคผิวหนังได้ที่ความเข้มข้นต่ำกว่าสารสกัดห้อมด้วยน้ำ และให้ปริมาณสารสกัดสูงกว่าสารสกัดด้วยเอทิลอะซีเตด นอกจากนี้ ได้ศึกษาความเป็นพิษต่อเซลไฟโบรบลาสท์ผิวหนังของมนุษย์ ฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และฤทธิ์สมานแผลในเซลล์ผิวหนังมนุษย์ของสารสกัดใบห้อมด้วยเอทานอล พบว่าสารสกัดห้อมมีความปลอดภัยต่อเซลล์ผิวหนังเซลไฟโบรบลาสท์ผิวหนังของมนุษย์ และมีฤทธิ์สมานแผลในเซลล์ผิวหนังมนุษย์ แต่ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านการอักเสบ

คำหลัก: ฤทธิ์ทางชีวภาพ สารสกัดใบห้อม