คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การประเมินความเสี่ยงจากการใช้สารกำจัดแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน (lambda-cyhalothrin)
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การประเมินความเสี่ยงจากการใช้สารกำจัดแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน (lambda-cyhalothrin) ต่อผู้ใช้ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
อำนาจ กะฐินเทศ, จันทิมา ผลกอง และผกาสินี คล้ายมาลา
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          การประเมินความเสี่ยงจากการใช้สารกำจัดแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน (lambda-cyhalothrin) ต่อผู้ใช้ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาในแปลงคะน้า 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดนครปฐมและจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2564 โดยใช้แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน สูตร 2.5% EC ปริมาณ 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง เมื่อพบการระบาดของศัตรูพืช หลังพ่นสารครั้งที่ 1 และ 2 ได้เก็บตัวอย่างแผ่นผ้าที่ติดบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย 16 จุด และน้ำล้างมือ-น้ำล้างเท้าเกษตรกร หลังพ่นครั้งที่ 2 เก็บตัวอย่าง น้ำ ดิน ตะกอน น้ำล้างมือคนเก็บคะน้าและผักคะน้า ผลการทดลองแปลงคะน้าจังหวัดนครปฐม พ่นครั้งที่ 1 และ 2 ในตัวอย่างแผ่นผ้า พบการตกค้างบริเวณแข้งนอกมากที่สุด ปริมาณ 12.29 และ 9.94 ไมโครกรัมต่อ 100 ตารางเซนติเมตร น้ำล้างมือ ไม่พบการตกค้าง น้ำล้างเท้าปริมาณ 0.23 และ 0.15 ไมโครกรัมต่อลิตร แปลงคะน้าจังหวัดสุพรรณบุรี พ่นครั้งที่ 1 และ 2 ในตัวอย่างแผ่นผ้า พบการตกค้างบริเวณแข้งนอก ปริมาณ 0.93 และ 4.79 ไมโครกรัมต่อ 100 ตารางเซนติเมตร น้ำล้างมือ ปริมาณ 0.13 และ 0.13 ไมโครกรัมต่อลิตร น้ำล้างเท้า ปริมาณ 3.91 และ 2.72 ไมโครกรัมต่อลิตร ผลการประเมินความเสี่ยงการรับสัมผัสสารเข้าสู่ร่างกายของผู้พ่นสาร พ่นครั้งที่ 1 และ 2 แปลงนครปฐมและสุพรรณบุรี พบค่าขอบเกณฑ์ความปลอดภัย (MOE) เท่ากับ 96,154 149,254 6,276 และ 8,390 ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลการประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภคคะน้า (HQ) เท่ากับ 0.19 และ 0.26 ผู้บริโภคสามารถบริโภคคะน้าได้อย่างปลอดภัย

คำสำคัญ: แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ดิน คะน้า เทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟฟี