คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การทดสอบประสิทธิภาพ B. subtilis ในการควบคุมโรคใบจุดคะน้าจากเชื้อรา A. brassicicola
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การทดสอบประสิทธิภาพ Bacillus subtilis ในการควบคุมโรคใบจุดคะน้าสาเหตุจากเชื้อรา Alternaria brassicicola
บุษราคัม อุดมศักดิ์, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์ และวรางคนา แช่อ้วง
กลุ่มวิจัยโรคพืช และกลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

           ในปี พ.ศ. 2554 ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของ Bacillus sp. ที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อรา A. brassicicola (Ab) สาเหตุโรคใบจุดคะน้า ซึ่งผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์จากห้องปฏิบัติการ และโรงเรือนทดสอบ 6 ไอโซเลท ได้แก่ 20W4 20W1 20W5 20W12 17G18 และ SA6 โดยนำไปทดสอบในแปลงปลูกที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 2 ฤดู โดยวิธีการพ่นด้วย cell suspension ของ Bacillus sp. ในระหว่างเดือนธันวาคม 2553 – กุมภาพันธ์ 2554 และฤดูที่ 2 ระหว่างเดือนมิถุนายน 2554 – สิงหาคม 2554 พบว่าในฤดูที่ 1 หลังการทดสอบ 7 วัน Bacillus sp. ทั้ง 6 ไอโซเลทสามารถลดการเกิดโรคได้สูงกว่ากรรมวิธีที่ไม่มีการพ่นด้วย Bacillus sp. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่แตกต่างกับกรรมวิธีที่พ่นสาร mancozeb 80% WP โดยไอโซเลท 17G18 20W5 และ 20W1 มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมโรค การทดสอบในฤดูที่ 2 พบว่าไอโซเลท 20W4 20W12 และ 20W11 มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมโรคใบจุดคะน้าเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ไม่มีการพ่น Bacillus sp. โดยไอโซเลท 20W4 มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการพ่นด้วยสาร mancozeb 80% WP ในปี 2555 ได้นำ 5 ไอโซเลท ได้แก่ 20W4 20W1 20W5 20W12 และ 17G18 มาปรุงแต่งเป็นผลิตภัณฑ์ผง และนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคใบจุดคะน้าในสภาพแปลงปลูกที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2555 พบว่าทั้ง 5 ไอโซเลท มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคต่ำกว่ากรรมวิธีที่ไม่มีการพ่น Bacillus sp. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยไอโซเลท 20W1 มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมโรคใบจุด โดยสามารถลดการเกิดโรคได้เท่ากับ 32.88% เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ไม่มีการพ่น Baciilus sp. แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีพ่นสาร mancozeb 80% WP พบว่าทุกไอโซเลทมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากรรมวิธีที่พ่นด้วยสาร mancozeb 80% WP อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ