คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศูนย์ต้นแบบการผลิตขยายแตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูเป็นปริมาณมาก
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศูนย์ต้นแบบการผลิตขยายแตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูเป็นปริมาณมาก
พัชรีวรรณ มณีสาคร, อัมพร วิโนทัย, รจนา ไวยเจริญ, ประภัสสร เชยคำแหง, สุวัฒน์ พูลพาน,วาทิน จันทร์สง่า และสุพรรณี เป็งคำ
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่

          ดำเนินการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงขยายเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูให้ได้ปริมาณสูงสุด จากจำนวน 15 พันธุ์ และฟักทองเลือกใช้พันธุ์ลายซึ่งมีลักษณะเหมาะสม เพลี้ยแป้งชอบ และจัดหาได้ง่าย รวมถึงการใช้สารสกัดจากต้นมันสำปะหลังซึ่งมีองค์ประกอบของไซยาไนด์ (linamarin) ที่สามารถดึงดูดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูได้มาใช้ในการทดสอบ วางแผนการทดลองแบบ RCB 6 กรรมวิธี 10 ซ้ำ โดยดำเนินงานที่กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง อ.เมือง จ.ระยอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2555

          ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า ต้นมันสำปะหลังพันธุ์ R72, B127 และ KU50 มีแนวโน้มที่เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดี โดยตรวจพบจำนวนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสูงสุดในสัปดาห์ที่ 2 จำนวน 9.8, 9.5 และ 7.8 ตัว ตามลำดับ

          สำหรับการทดลองเลี้ยงขยายเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูบนผลฟักทอง เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูสามารถเจริญเติบโตและขยายปริมาณให้กลุ่มไข่ได้ดีที่สุดบนผลฟักทองผิวเรียบที่ทาสาร linamarin มากกว่าฟักทองผิวเรียบที่ไม่ทาสาร linamarin และมากกว่าผิวขรุขระ คือ 15.35, 15.00 และ 3.10 กลุ่ม