คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การแพร่กระจายของสารพิษการเกษตร จากแหล่งเกษตรกรรมลงสู่แม่น้ำสายหลักในประเทศไทย
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การแพร่กระจายของสารพิษการเกษตร จากแหล่งเกษตรกรรมลงสู่แม่น้ำสายหลักในประเทศไทย
มลิสา เวชยานนท์, สิริพร เหลืองสุชนกุล, ประกิจ จันทร์ติ๊บ, เอกราช สิทธิมงคล และปภัสรา คุณเลิศ
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ศึกษาการแพร่กระจายของสารพิษทางการเกษตรจากแหล่งเกษตรกรรมลงสู่แม่น้ำสายหลักของประเทศ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางของแม่น้ำ รวมทั้งตัวอย่างพืชและสัตว์น้ำที่นำมาบริโภคเพื่อตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างทางการเกษตร ใช้ระบบกำหนดตำแหน่งพื้นโลกด้วยดาวเทียม (Global Positioning System; GPS) ประกอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง กำหนด 27, 26, 24 และ 24 จุดตามลำดับ ซึ่งในแต่ละแม่น้ำจะสุ่มเก็บ 4 ครั้งต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 - 2555 ช่วงเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคม และธันวาคม ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างจากแม่น้ำทั้ง 4 สาย ได้แก่ ตัวอย่างน้ำ ตะกอน พืชน้ำ และสัตว์น้ำ จำนวน 393, 348, 108 และ 41 ตัวอย่าง ตามลำดับ พบสารพิษตกค้างในตัวอย่างน้ำ 240 ตัวอย่าง คิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มคาร์บาเมท สารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีน และสารกำจัดโรคพืชกลุ่มฟินิลเอไมด์ เอคิลอาลานิน ปริมาณ <0.01-0.21, <0.01-0.49, 0.03-0.44, 0.01-29.55, 0.06-0.20ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ตัวอย่างตะกอน 348 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพิษตกค้าง 88 ตัวอย่าง คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ สารพิษที่ตรวจพบเป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มไพรีทรอยด์ กลุ่มคาร์บาเมท สารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีน กลุ่มคลอโรฟีนอกซี่คอมพาวด์และสารกำจัดโรคพืชกลุ่มฟินิลเอไมด์ เอคิลอาลานิน ปริมาณ <0.01 - 0.04, <0.01 -0.07, <0.01-0.33, <0.01-0.02, <0.01-0.70, <0.01 และ <0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ตัวอย่างพืชน้ำ 108 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพิษ 10 ตัวอย่าง คิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มไพรีทรอยด์ กลุ่มคาร์บาเมท และสารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีน ปริมาณ <0.01-0.02, 0.02, 0.06 และ 0.03 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ตัวอย่างสัตว์น้ำชนิดปลา 41 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพิษตกค้าง 32 ตัวอย่าง คิดเป็น 78 เปอร์เซนต์ เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มไพรีทรอยด์และสารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีนปริมาณ <0.01-0.04, 0.02-0.03, <0.01-0.09 และ 0.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณสารพิษที่ตรวจพบในตัวอย่างน้ำและสัตว์น้ำ ไม่เกินค่าสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในน้ำ (Maximum Allowable Concentration; MAC) และไม่เกินค่าความความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50 เปอร์เซ็นต์ (Median Lethal Concentration; LC50) ของปลา ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการตรวจวิเคราะห์จะเป็นการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมบริเวณเกษตรกรรม รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการห้ามหรือการยกเลิกการใช้สารพิษทางการเกษตรตามกฎหมาย ตลอดจนใช้ประกอบการร่างมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งผิวดินของประเทศต่อไป