คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การศึกษาอนุกรมวิธานและการใช้ประโยชน์ของพืชวงศ์เหงือกปลาหมอของประเทศไทย
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การศึกษาอนุกรมวิธานและการใช้ประโยชน์ของพืชวงศ์เหงือกปลาหมอใน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
วินัย สมประสงค์, จารุวรรณ จาติเสถียร, พงษ์ศักดิ์ พลตรี, กาญจนา พฤษพันธ์, วิลาสินี จิตต์บรรจง, บดินทร สอนสุภาพ, ปาจรีย์ อินทะชุบ, ภัทธรวีร์ พรมนัส และชัยนาท ชุ่มเงิน
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร

         จากการศึกษาพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในประเทศไทย มีการใช้ประโยชน์หลายด้านซึ่งสัมพันธ์กับวงศ์ย่อยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 17 สกุล 39 ชนิด 1 ชนิดย่อย 2 พันธุ์ พบว่า พืชที่ใช้ประโยชน์ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ศึกษาการใช้ประโยชน์ทั้ง 3 ภาค (ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) แบ่งเป็น พืชผัก (6 ชนิด) เป็นยาพื้นบ้าน (39 ชนิด) พืชสี (2 ชนิด) และเป็นพืชใช้หมักแป้งทำเหล้าอุ (2 ชนิด) แต่การศึกษาด้านอนุกรมวิธานของพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในประเทศไทย ยังมีปัญหาด้านการจัดจำแนกในระดับวงศ์ย่อย จึงจำเป็นต้องมาศึกษาข้อมูลการจำแนกทางอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยาการกระจายพันธุ์ การจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง เพื่อการจำแนกพืชวงศ์นี้ในประเทศไทยให้ถูกต้อง จากการศึกษาพบว่า การจำแนกพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในประเทศไทยทั้ง 3 ภาคดังกล่าว สามารถจำแนกได้ 3 วงศ์ย่อย ได้ทั้งสิ้น 26 สกุล 191 ชนิด คือ วงศ์ย่อย Nelsonoideae (3 สกุล 7 ชนิด) มีลักษณะสำคัญคือ การเรียงกลีบแบบ descending cochlear aestivation ที่ผิวใบไม่พบซิสโทลิท (cystolith) ผลแห้งแตก ไม่พบตะขอดีดเมล็ด วงศ์ย่อย Thunbergioideae (1 สกุล 6 ชนิด) มีลักษณะสำคัญคือ เป็นไม้เถา อับเรณูพบขนแข็ง ผลแห้งแตก หรือผลเมล็ดเดียวแข็ง และวงศ์ย่อย Acanthoideae (22 สกุล 89 ชนิด) มีลักษณะสำคัญคือ ผลแห้งแตก พบตะขอดีดเมล็ด

          การศึกษาด้านอนุกรมวิธานของพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในครั้งนี้ พบพืชวงศ์เหงือกปลาหมอที่เป็นชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด คือ ฮ่อมจิรายุพิน (Phlogacanthus chirayupinianus W. Somprasong & S. Vajarodhaya sp. nov.) ต้นตะขาบสาละวิน (Lepidagathis salawinensis W. Somprasong & S. Vajarodhaya sp. nov.) และเดือยงูแก่งกระจาน (Gymnostachyum kaengkrachanense W. Somprasong & N. Toonmal sp. nov.)