คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ชนิดและแหล่งอาศัยของเชื้อรา Papulaspora sp. และระดับความเสียหายที่พบปนเปื้อน
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ชนิดและแหล่งอาศัยของเชื้อรา Papulaspora sp. และระดับความเสียหายที่พบปนเปื้อนในการเพาะเห็ดฟาง (Volvariella volvacea) เป็นการค้า
อภิรัชต์ สมฤทธิ์, ธารทิพย ภาสบุตร, สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ และสุรีย์พร บัวอาจ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาชนิดและแหล่งอาศัยของเชื้อรา Papulaspora sp. และระดับความเสียหายที่พบปนเปื้อนในการเพาะเห็ดฟาง (Volvariella volvacea) เป็นการค้า ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2555 โดยสำรวจเก็บตัวอยางวัสดุเพาะเห็ดฟางที่พบเชื้อราสีน้ำตาลเข้าทำลาย แล้วนำเชื้อรามาแยก จำแนกชนิดที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิทยาไมโค กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พบเชื้อราสีน้ำตาลวัสดุที่เป็นทะลายปาล์มที่เพาะในโรงเรือน จากจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดราชบุรี พบบนวัสดุที่เป็นฟางข้าวเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี เชื้อรานี้เจริญและสร้างเส้นใยได้เร็วบนอาหาร PDA และเร็วกว่าเชื้อเห็ดฟาง และเส้นใยสามารถคลุมทับบนเส้นใยเห็ดฟางได้ และพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในกองเพาะเห็ดฟางที่พบเชื้อมีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำเชื้อราที่พบมาแยกเชื้อบริสุทธิ์บนอาหาร PDA ในห้องปฏิบัติการ แล้วจำแนกชนิดจากการค้นคว้าเอกสารอ้างอิงจำแนกชนิดได้เป็นเชื้อรา Papulaspora byssina เชื้อราชนิดนี้มีสีน้ำตาล เห็นชัดเจนบนกองวัสดุเพาะ ซึ่งการคลุมของเชื้อรานี้สามารถแผ่ขยายบนกองปุ๋ยหมักได้ด้วยรัศมีหลายเมตรในช่วงเริ่มต้น เชื้อรานี้จะเจริญเป็นกลุ่มเส้นใยสีขาวแนนทึบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเป็นผงเล็กๆ ละเอียด ลักษณะที่มองเห็นนั้นคล้ายกับฝุ่นผงสีน้ำตาลซึ่งก็คือ สปอร์กลมเล็กของเชื้อรา การศึกษาอัตราการเจริญของเชื้อราบนอาหาร PDA พบว่า เชื้อราเจริญทางเส้นใยได้ค่อนข้างเร็ว โดยเริ่มต้นเชื้อรางอกเส้นใยบางๆ สีขาวครีม และเจริญเต็มจานอาหารเลี้ยงเชื้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เซนติเมตร ในเวลา 7 วัน การศึกษาผลของเชื้อรา Papulaspora ที่มีต่อการเจริญของเส้นใยเห็ดฟางด้วยวิธีการ Dual Culture พบว่า เส้นใยเชื้อรา P. byssina ไอโซเลทต่างๆ มีการเจริญบนอาหาร PDA ได้รวดเร็วกว่าเส้นใยเห็ดฟางทำให้เจริญทับคลุมเส้นใยเห็ดฟาง และมีผลทำให้เส้นใยเห็ดฟางเจริญช้าจนถึงหยุดชะงักการเจริญ