คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาวิธีการจัดการวัชพืชในสวนปาล์มน้ำมัน
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาวิธีการจัดการวัชพืชในสวนปาล์มน้ำมัน
จรัญญา ปิ่นสุภา, สิริชัย สาธุวิจารณ์, จรรยา มณีโชติ และวนิดา ธารถวิล
กลุ่มวิจัยวัชพืช และกลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาวิธีการจัดการวัชพืชในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนวัชพืชงอก และประเภทหลังวัชพืชงอก ที่ไม่เป็นพิษต่อต้นปาล์มน้ำมัน ในสภาพเรือนทดลองและนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในสภาพแปลงปลูกต่อไป การทดลองที่ 1) ทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนวัชพืชงอก ดำเนินการทดลอง ณ กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ มี 11 กรรมวิธี ได้แก่ การพ่นสารกำจัดวัชพืช alachlor, acetochlor, metolachlor, pendimetaline, oxadiazon, atrazineametry, diuron และ bromazil อัตรา 320, 300, 3200, 264, 150, 300, 300, 240, 480 และ 150 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ตามลำดับ และกรรมวิธีไม่พ่นสารกำจัดวัชพืช ผลการทดลองพบว่า สารกำจัดวัชพืชทุกชนิดในกรรมวิธีการทดลองเป็นพิษเล็กน้อยต่อปาล์มน้ำมัน ไม่ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันตายแต่สารกำจัดวัชพืช alachlor, acetochlor, metolachlor และ pendimetalin มีผลกระทบต่อใบปาล์มน้ำมันในใบที่เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ ทำให้ใบมีการเจริญเติบโตผิดปกติ การทดลองที่ 2) ทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกในปาล์มน้ำมัน ดำเนินการทดลองในสภาพสวน ณ ศูนยวิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ที่ระยะ 60 วัน หลังพ่นสาร สารกำจัดวัชพืช glyphosate 48% EC, glufosinate ammonium 15% SC, paraquat 27.6% SC และ ametryn 80% WG สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี วัชพืชที่สามารถควบคุมได้ คือ สาบม่วง (Praxelis clematidea R.M. King) สาบเสือ (Chromolena odorata (L.) R.M. King & H.Rob. หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium L.) หญ้าตีนนก (Digitaria sanguinalis (L.). Scop.) หญ้าชันกาด (Panicum repens L.) กกตุ้มหู (Cyperus kyllingia Endl.) และกกทราย (Cyperus iria L.)