คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: มะนาวพันธุ์พิจิตร 1
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
มะนาวพันธุ์พิจิตร 1
ณรงค์ แดงเปี่ยม, เสงี่ยม แจ่มจำรูญ, วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, ปัญญา ธยามานนท์, สุธน สุวรรณบุตร, นรินทร์ พูลเพิ่ม, กัลยา เนตรกัลยามิตร, ดิเรก ตนพะยอม, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, เพ็ญจันทร์ สุทธานุกูล และกุศล ถมมา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2, สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3

          มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 เป็นมะนาวที่คัดเลือกได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์มะนาวแป้นรำไพเป็นแม่กับพันธุ์น้ำหอมเป็นพ่อ ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 - 2543 คัดเลือกต้นกล้าลูกผสมที่มีการเจริญเติบโตดี มีความต้านทานต่อโรคแคงเกอร์ไปปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ 300 สายพันธุ์ ได้ต้นที่ดีเด่น 7 พันธุ์ คือ B18, I17, J17, M1, M7, M9 และ M33 (พิจิตร 1) ปี พ.ศ. 2549 - 2553 นำสายพันธุ์มะนาวลูกผสมที่มีลักษณะดีเด่นที่ให้ผลผลิตสูง มีทรงผลแป้นและต้านทานต่อโรคแคงเกอร์ไปปลูกทดสอบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย 2 พันธุ์ คือ B18 และ M33 โดยมีพันธุ์แป้นรำไพ และ L4 ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมจากพันธุ์แป้นรำไพกับพันธุ์หนังคันธุลี เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ เมื่อมะนาวอายุ 4 ปี พบว่า มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 มีคุณลักษณะต่างๆ ดีกว่าพันธุ์แป้นรำไพ มีความต้านทานต่อโรคแคงเกอร์โดยพบอาการของโรคที่ใบร้อยละ 17.15 ส่วนพันธุ์แป้นรำไพพบอาการของโรคสูงถึงร้อยละ 78.3 นอกจากนี้ยังมีการเจริญเติบโตเร็ว ทรงต้นสูงเฉลี่ย 219 เซนติเมตร พันธุ์แป้นรำไพสูงเฉลี่ย 121 เซนติเมตร ให้ผลผลิตเร็วและให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 3 ปี 794 กิโลกรัม/ไร่ พันธุ์แป้นรำไพให้ผลผลิตเฉลี่ย 104 กิโลกรัม/ไร่ ทรงผลแป้นตรงตามความต้องการของตลาด มีปริมาณน้ำคั้นเฉลี่ย 20.5 มิลลิลิตรต่อผล สูงกว่าพันธุ์แป้นรำไพร้อยละ 17.5 และมีกลิ่นหอม จากการแนะนำพันธุ์และเผยแพร่พันธุ์ ปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจนำมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 450,000 ต้น