คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การพัฒนายางตีนตะขาบเครื่องเกี่ยวนวด
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การพัฒนายางตีนตะขาบเครื่องเกี่ยวนวด
วิชัย โอภานุกุล, อดุลย์ ณ วิเชียร, ณพรัตน์ วิชิตชลชัย, คทาวุธ จงสุขไว และวีระ สุขประเสริฐ
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม, สถาบันวิจัยยาง

          ปัจจุบันคาดว่ามีการใช้งานเครื่องเกี่ยวนวดมากกว่า 10,000 เครื่อง ในกิจกรรมเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อบริโภคและส่งออกของไทย ซึ่งการเคลื่อนย้ายเครื่องเกี่ยวนวดไปทำงานในไร่นามีบ่อยครั้งที่สภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปบนถนนภายในหมู่บ้านทำให้ผิวถนนเป็นรอยเสียหาย ต้องใช้ล้อรถยนต์หรือแผ่นยางมารองรับตีนตะขาบแล้วขับเคลื่อนไปอย่างช้าๆ จนถึงแปลงเก็บเกี่ยวทำให้เกิดการสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาท/ชั่วโมง คณะผู้วิจัยจึงพัฒนายางตีนตะขาบสำหรับใช้กับเครื่องเกี่ยวนวด โดยพัฒนาสูตรยางธรรมชาติผสมกับสารเคมีให้มีสมบัติทางกายภาพสอดคล้องกับมาตรฐาน มอก. 2478-2552 มีค่าความแข็ง 68.8 Shore A จากนั้นนำสูตรที่พัฒนาได้ไปผลิตยางตีนตะขาบโดยการอัดขึ้นรูปร้อนด้วยแม่พิมพ์ที่ออกแบบเฉพาะที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส  

          ผลการทดสอบใช้งานกับเครื่องเกี่ยวนวดขนาดกลาง น้ำหนัก 4.2 ตัน เมื่อนำไปขับเคลื่อนบนถนนลาดยางพบว่าไม่ทำให้ผิวถนนลาดยางเสียหาย จึงนำไปทดสอบในไร่นาโดยช่วงแรกทดสอบในแปลงนาสภาพเป็นดินเหนียวอ่อน มีค่าความต้านทานการแทงทะลุความลึก 5 เซนติเมตร เท่ากับ 0.3 นิวตัน/ตารางมิลลิเมตร ความเร็วการเคลื่อนที่ 4.17-4.93 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนพื้นที่ 7.2 ไร่ พบว่ายางตีนตะขาบมีอัตราการสึกหรอน้อยมาก จึงเร่งอัตราการสึกหรอโดยทดสอบในสภาพไร่ซึ่งดินแข็งกว่ามีค่าความต้านทานการแทงทะลุความลึก 5 เซนติเมตร เท่ากับ 1.6 นิวตัน/ตารางมิลลิเมตร ใช้ความเร็วการเคลื่อนที่ 4.21-4.43 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนพื้นที่ 323 ไร่ หรือคิดเทียบเท่าแปลงนา 1,721 ไร่ เมื่อนำยางตีนตะขาบมาตรวจสอบมีอัตราการสึกหรอประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น จึงขยายผลการวิจัยโดยร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องเกี่ยวนวดในจังหวัดพิษณุโลกนำไปใช้กับเครื่องเกี่ยวนวดขนาดใหญ่ น้ำหนัก 9 ตัน