คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรียของปทุมมาโดยแบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรียของปทุมมาโดยแบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis
ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, วิภาดา ทองทักษิณ, สุธามาศ ณ น่าน และวงศ์ บุญสืบสกุล
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, กลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน

          การแยกแบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis จากดิน รากพืช และปุ๋ยคอกจากพืช จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ชุมพร และครปฐม จำนวน 50 ตัวอย่าง ได้แบคทีเรีย B. subtilis จำนวน 135 ไอโซเลท นำแบคทีเรียที่แยกได้ไปคัดเลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย Ralstonia solanasearum สาเหตุโรคเหี่ยวของปทุมมาในห้องปฏิบัติการ สามารถคัดเลือกได้แบคทีเรียจำนวน 8 ไอโซเลท คือ แบคทีเรียปฏิปักษ์ BS-DOA 24, BS-DOA 69, BS-DOA 97, BS-DOA 108, BS-DOA 114, BS-DOA 123, BS-DOA 125 และ BS-DOA 132 นำแบคทีเรียทั้ง 8 ไอโซเลท ไปทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเหี่ยวของปทุมมาในสภาพเรือนทดลองพบว่า แบคทีเรียปฏิปักษ์ 4 ไอโซเลท ได้แก่ BS-DOA 108, BS-DOA 114, BS-DOA 123 และ BS-DOA 125 สามารถควบคุมโรคเหี่ยวของปทุมมาได้ถึงร้อยละ 60 เมื่อนำแบคทีเรียทั้ง 4 ไอโซเลท ไปทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเหี่ยวในสภาพแปลงทดลองพบว่า แบคทีเรียปฏิปักษ์เพียง 2 ไอโซเลท ได้แก่ BS-DOA 108 และ BS-DOA 114 สามารถควบคุมโรคได้ร้อยละ 43.33 และ 41.33 ตามลำดับ เมื่อนำแบคทีเรียปฏิปักษ์ 2 ไอโซเลท ไปทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเหี่ยวในสภาพแปลงเกษตรกรเป็นระยะเวลา 2 ปี (2551-2552) โดยทดสอบในพื้นที่เดิมพบว่า กรรมวิธีที่ใช้แบคทีเรียปฏิปักษ์ BS-DOA 108 ร่วมกับ BS-DOA 114 สามารถควบคุมโรคเหี่ยวได้ดีที่สุด โดยในปี 2551 สามารถควบคุมโรคเหี่ยวในแปลงเกษตรกรได้ร้อยละ 48.67 โดยเกิดโรคเหี่ยวร้อยละ 51.33 และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 506.67 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะกรรมวิธีควบคุมเกิดโรคเหี่ยวร้อยละ 62.67 เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 142.22 กิโลกรัมต่อไร่ และในปี 2552 กรรมวิธีที่ใช้แบคทีเรียปฏิปักษ์ BS-DOA 108 ร่วมกับ BS-DOA 114 สามารถควบคุมโรคเหี่ยวได้ร้อยละ 74.67 โดยเกิดโรคเหี่ยวร้อยละ 25.33 และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 782.22 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะกรรมวิธีควบคุม เกิดโรคเหี่ยวร้อยละ 43.33 เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 382.22 กิโลกรัม/ไร่