คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การบริหารจัดการโรคเหี่ยวสับปะรด - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4)
+--- เรื่อง: การบริหารจัดการโรคเหี่ยวสับปะรด (/showthread.php?tid=90)



การบริหารจัดการโรคเหี่ยวสับปะรด - doa - 10-13-2015

การบริหารจัดการโรคเหี่ยวสับปะรด
วันเพ็ญ  ศรีทองชัย, สุเทพ สหายา, พวงผกา อ่างมณี, ชลิดา อุณหวุฒิ, มัลลิกา นวลแก้ว, สาวิตรี เขมวงศ์ และเขมิกา โขมพัตร
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

          โรคเหี่ยวสับปะรดเกิดจากเชื้อไวรัส (Pineapple mealybug wilt-associated virus; PMWaVs) โดยมีเพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำโรค และสามารถติดไปกับหน่อพันธุ์ ทำให้โรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง วิธีการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวที่ได้ผลดี คือ การกำจัดแหล่งของเชื้อและแมลงพาหะ ได้แก่ การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งสับปะรดในสภาพไร่ รวมทั้งกำจัดเพลี้ยแป้งซึ่งอาจติดมากับหน่อพันธุ์สับปะรด ผลการทดลองสรุปได้ว่่า วิธีการที่เหมาะสมในการจัดการเพลี้ยแป้งเพื่อลดปัญหาโรคเหี่ยวในสับปะรดคือการชุบหน่อพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ dinotefuran, thiamethoxam และ imidacloprid อัตรา 50, 4 และ 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ สามารถกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับหน่อพันธุ์และป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งหลังปลูกสับปะรดประมาณ 35 วัน หลังจากนั้นหากพบการระบาดพ่นเฉพาะจุดที่พบเพลี้ยแป้งด้วยสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ thiamethoxam, imidacloprid, dinotefuran, acetamiprid อัตรา 2.5, 20, 20 และ 10 กรัมหรือมิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ สำหรับการกำจัดแหล่งของเชื้อไวรัส คือ การผลิตหน่อพันธุ์ปลอดโรคโดยอาศัยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อปลูกทดแทนหน่อที่มีเชื้อไวรัสติดไปและแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของประเทศ เริ่มจากการเก็บต้นสับปะรดที่มีลักษณะสมบูรณ์ในพื้นที่ปลูกสับปะรดของภาคตะวันตกและภาคใต้ รวม 465 หน่อ นำมาตรวจสอบไวรัสของโรคเหี่ยวทั้ง 2 strain (PMWAV-1 & PMWAV-2) ด้วยเทคนิค RT-PCR ผลปรากฏว่า มีหน่อที่ปลอดไวรัสทั้ง 2 strain จำนวน 69 หน่อ จึงนำมาขยายหน่อพันธุ์ปลอดโรคในอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อชักนำให้เกิดการแตกกอ (สูตรอาหาร MS + BA 1 ppm) และเร่งราก (สูตรอาหาร MS+IBA 0.5 ppm) ได้เป็นต้นอ่อนที่สมบูรณ์จำนวน 2,000 ต้น และได้ทำการย้ายปลูกในวัสดุปลูก (ดิน : ขี้เถ้าแกลบ : ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1 : 1 : 1) ซึ่งจะนำไปปลูกขยายหน่อพันธุ์ปลอดโรคเหี่ยวในแปลงปลูกต่อไป