ศึกษาความชื้นเมล็ดและภาชนะบรรจุที่เหมาะสมในการเก็บรักษาลูกเดือยเพื่อการส่งออก
#1
ศึกษาความชื้นเมล็ดและภาชนะบรรจุที่เหมาะสมในการเก็บรักษาลูกเดือยเพื่อการส่งออก
อรวรรณ จิตต์ธรรม, วิภารัตน์ ดำริเข้มตระกูล, จารุวรรณ บางแวก และอรณิชชา สุวรรณโฉม

          ลูกเดือยเป็นธัญพืชที่เมล็ดมีคุณค่าทางอาหารสูง ทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศแต่ในการเก็บรักษามักจะประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแอฟลาทอกซิน ซึ่งภาชนะและสภาพการบรรจุเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเก็บรักษา จึงทำการศึกษาวิธีเก็บรักษาเมล็ดเดือยทั้งเปลือก และที่ขัดสีแล้ว เพื่อลดการปนเปื้อนสารแอฟลาทอกซิน โดยการทดลองที่ 1 ศึกษาสภาพการบรรจุที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเมล็ดเดือยที่ขัดสีแล้ว ทำการทดลองที่สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ในปี 2549 - 2550 โดยทำการเก็บรักษาเมล็ดเดือยที่ขัดสีแล้ว มีความชื้นเริ่มต้น 12% โดยมีกรรมวิธีต่างๆ 4 กรรมวิธี คือ 1) บรรจุในถุงพลาสติก LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) และปิดผนึก 2) บรรจุในถุงพลาสติก LLDPE ใส่สารดูดออกซิเจน และปิดผนึก 3) บรรจุในถุงพลาสติก LLDPE สภาพสุญญากาศ 4) บรรจุในกระสอบพลาสติก และเย็บปิดปากถุง บันทึกกลิ่น ความชื้น ตรวจสอบปริมาณการปนเปื้อนของแอฟลาทอกซิน ตั้งแต่ก่อนบรรจุ และหลังจากเก็บรักษา ทุกๆ เดือน และคุณค่าทางโภชนาการทดสอบทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ผลการศึกษาพบว่า กรรมวิธีบรรจุในถุงพลาสติก LLDPE ใส่สารดูดออกซิเจน และปิดผนึก สามารถเก็บรักษาเมล็ดเดือยได้นาน 7 เดือน โดยยังมีกลิ่นหอมใกล้เคียงกับก่อนการบรรจุ สำหรับกรรมวิธีอื่นเมล็ดเดือยมีกลิ่นหืนหลังจากเก็บรักษานาน 3 เดือนและวิธีการบรรจุเมล็ดเดือยทั้ง 4 กรรมวิธี ไม่มีผลต่อปริมาณสารแอฟลาทอกซิน แต่ระยะเวลาในการเก็บรักษามีผลต่อปริมาณสารแอฟลาทอกซิน โดยในเมล็ดเดือยที่ขัดสีแล้วที่มาจากประเทศไทย ทุกกรรมวิธีเมื่อทำการเก็บรักษานาน 4 เดือนมีปริมาณสารแอฟลาทอกซินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ไม่เกิน 10 ppb ในขณะที่เมล็ดเดือยที่ขัดสีแล้วที่มาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเก็บรักษานาน 5 เดือนมีปริมาณสารแอฟลาทอกซินเกินกว่า 10 ppb ในกรรมวิธีที่ 3 และ 4 ด้านคุณค่าทางโภชนาการมีค่าใกล้เคียงกันทุกกรรมวิธี

          การทดลองที่ 2. ศึกษาความชื้นเมล็ดและภาชนะบรรจุที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเมล็ดเดือยทั้งเปลือกทำการทดลองที่โรงสียงสวัสดิ์พืชผล อ.วังสะพุง จ.เลย ในปี 2550 - 2551 โดยนำเมล็ดเดือยทั้งเปลือก 2 ชนิดบรรจุในกระสอบป่าน และกระสอบพลาสติก ที่ความชื้นเริ่มต้น 2 ระดับ คือ 10 และ 15% ทำการเก็บรักษาโดยกองไว้ในโรงเก็บที่ไม่สามารถควบคุมสภาพบรรยากาศได้เป็นเวลา 7 เดือน ทุกเดือนสุ่มเมล็ดมาเพื่อทดสอบความชื้นและปริมาณสารแอฟลาทอกซิน ผลการศึกษาพบว่า เมล็ดเดือยทั้ง 2 ชนิด ที่มีความชื้นเริ่มต้น 10% ตลอดอายุการเก็บรักษาความชื้นเมล็ดไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะเมล็ดเดือยทั้งเปลือกที่มีความชื้นเริ่มต้น 15% พบว่ามีความชื้นลดลงเมื่ออายุการเก็บรักษานานขึ้น ด้านปริมาณสารแอฟลาทอกซินพบว่า ในเมล็ดเดือยทั้งเปลือกที่มาจากประเทศไทย ตลอดอายุการเก็บรักษามีปริมาณสารแอฟลาทอกซินไม่เกิน 10 ppb ในทั้ง 2 ภาชนะบรรจุและ 2 ระดับความชื้น ในขณะที่เมล็ดเดือยทั้งเปลือกที่มาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบว่า เมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 15% ทำการบรรจุในกระสอบป่านและกระสอบพลาสติก มีปริมาณสารแอฟลาทอกซินสูงถึง 15.3 และ 30.8 ppb ตามลำดับ สำหรับเมล็ดเดือยทั้งเปลือกที่มีความชื้นเริ่มต้น 10% มีปริมาณสารแอฟลาทอกซินไม่เกิน 10 ppb ทั้ง 2 ภาชนะบรรจุ ดังนั้นการเก็บรักษาเมล็ดเดือยทั้งเปลือกในระยะยาวควรลดความชื้นให้เหลือ 10% ก่อนทำการเก็บรักษา และคุณภาพเมล็ดเดือยก่อนการเก็บรักษามีความสำคัญต่อการเกิดสารแอฟลาทอกซิน


ไฟล์แนบ
.pdf   972_2551.pdf (ขนาด: 1.69 MB / ดาวน์โหลด: 818)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม