ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดในพื้นที่เกษตรกร
#1
ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดในพื้นที่เกษตรกร
ละเอียด ปั้นสุข, จันทนา ใจจิตร, ศักดิ์ดา เสือประสงค์, เครือวัลย์ บุญเงิน, อรัญญา ภู่วิไล, อำนาจ จันทร์กลิ่น, อาภรณ์ ภาคภูมิ, มัลลิกา นวลแก้ว, วลัยภรณ์ ชัยฤทธิไชย, เสาวคนธ์ วิลเลี่ยมส์, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุเทพ สหายา, ศรีนวล สุราษฎร์, ชูชาติ วัฒนวรรณ, อรุณี วัฒนวรรณ, จรีรัตน์ มีพืชน์, หฤทัย แก่นลา, นพดล แดงพวง, สุเมธ พากเพียร, จารุณี ติสวัสดิ์, เกษสิริ ฉันทะพิริยะพูน, อุมาพร รักษาพราหมณ์, ผนิต หมวกเพชร, นรินทร์ พูลเพิ่ม, พิชาภพ เกตุทอง, ธำรง ช่วยเจริญ, ยงศักดิ์ สุวรรณเสน, สุวรรณ ทิพย์เมืองพรหม, เกศวดี สุขสันติมาศ, มนัสชญา สายพนัส, ยุพา คงสีไพร, พานิช จิตดี, ประภาพร แพงดา และชอุ่ม ออไอศูรย์
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี, สำนักวิจัยการอารักขาพืช, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์

          โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดที่เหมาะสมของกรมวิชาการเกษตร ไปแก้ปัญหาการผลิตสับปะรดของเกษตรกรโดยเฉพาะปัญหาดินเสื่อมโทรม ผลผลิตกระจุกตัวทำให้ล้นตลาดแต่บางช่วงเวลาผลผลิตไม่เพียงพอ การเกิดปัญหาโรคเหี่ยวในสับปะรด ดำเนินงานระหว่างปี 2554 - 2556 ดังนี้

          ทดสอบการใช้ปุ๋ยและการปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรด จังหวัดอุทัยธานี ทำการทดสอบการใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการไถกลบซากต้นสับปะรดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรดร่วมกับเกษตรกร ตำบลเจ้าวัด อำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานีดำเนินงาน 2 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีเกษตรกรเป็นวิธีการที่เกษตรกรเคยปฏิบัติ และกรรมวิธีทดสอบโดยการไถกลบซากต้นสับปะรดและใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ดำเนินการทดสอบ 2 ปี การผลิตพบว่า ผลผลิตสับปะรดกรรมวิธีทดสอบเฉลี่ยเท่ากับ 8,856 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกร 7,619 กก./ไร่ ซึ่งผลผลิตในกรรมวิธีทดสอบสูงกว่า 16.23 เปอร์เซ็นต์ รายได้สุทธิในกรรมวิธีทดสอบเท่ากับ 12,740 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกร 10,804 บาท/ไร่ ซึ่งกรรมวิธีทดสอบสูงกว่า 17.92 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อวิเคราะห์สัดส่วนรายได้ต่อการลงทุน (BCR) พบว่า กรรมวิธีทดสอบปีมีค่าเท่ากับ 1.77 และกรรมวิธีเกษตรกรมีค่า 1.75 ซึ่งทั้ง 2 กรรมวิธี ยังมีความเสี่ยงในการผลิต

          ทดสอบเทคโนโลยีการกระจายการผลิตสับปะรดทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ในเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2556 การกระจายการผลิตในช่วงฤดูแล้ง (ก.พ. – มี.ค.) ให้เริ่มปลูกเดือน ธ.ค. และมีการให้น้ำตั้งแต่หลังปลูกถึงเดือนพ.ค. จะช่วยให้การเจริญเติบโตในช่วง 6 เดือนแรกดีขึ้น แต่เมื่อสับปะรดได้รับฝนตามฤดูกาลแล้วต้นที่ไม่ได้รับน้ำเพิ่มในช่วงแรกสามารถเจริญเติบโตได้ทันกัน การให้ปุ๋ยทางกาบใบ และพ่นทางใบเพิ่มไม่ได้ช่วยให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น ในขณะที่สับปะรดยังได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่การให้ปุ๋ยทางใบและมีการให้น้ำเพิ่มในช่วงที่มีการพัฒนาผลส่งผลให้น้ำหนักผลเฉลี่ยเมื่อเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนการกระจายการผลิตในช่วงฤดูฝน (ส.ค. – ก.ย.) ให้เริ่มปลูกเดือน เม.ย. โดยต้องมีการให้น้ำเสริมในช่วงฝนทิ้งช่วง (พ.ย. – พ.ค.) และการให้ปุ๋ยทางใบเสริมไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสับปะรด แต่ต้องมีการเพิ่มปริมาณปุ๋ยทางกาบใบเป็นครั้งละ 25 กรัม/ต้น จำนวน 2 ครั้ง สับปะรดจะมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น เมื่อเก็บผลผลิตช่วง ก.ย. ผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างกัน

          ทดสอบเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชเพื่อแก้ปัญหาโรคเหี่ยวสับปะรดด้วยการเตรียมหน่อพันธุ์ก่อนปลูกโดยการแช่หน่อพันธุ์ในน้ำร้อน 55 เซลเซียส นาน 60 นาที และจุ่ม thiamethoxam 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ร่วมกับการจัดการแปลงโดยกำจัดวัชพืชในแปลง กำจัดมดด้วย diazinon และสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอเมื่อพบต้นเป็นโรคกำจัดออกจากแปลง ซึ่งดำเนินการในพื้นที่เกษตรกร อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างตุลาคม 2553 – กันยายน 2556 จากการดำเนินการเตรียมหน่อพันธุ์พบว่า การแช่น้ำร้อนหน่อพันธุ์มีผลต่อการเจริญเติบโตของสับปะรดในช่วงแรกเท่านั้น และเมื่อสับปะรดอายุ 8 เดือน มีการเจริญเติบโตของต้นสับปะรดไม่แตกต่างกัน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตสับปะรดที่ได้จากแปลงทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวไม่แตกต่างกับวิธีของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการเตรียมหน่อพันธุ์ร่วมกับการจัดการแปลงช่วยลดการเป็นโรคได้โดยต้นสับปะรดยังคงให้ผลผลิตได้เกิดความเสียหายไม่รุนแรง

          ทดสอบเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาโรคเหี่ยวสับปะรดดำเนินงานในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และในพื้นที่แปลงเกษตรกร ตำบลหนองกระท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินงาน 2 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีทดสอบโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดของกรมวิชาการเกษตร และกรรมวิธีเกษตรกร ซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่แล้ว ผลการดำเนินงานในจังหวัดระยอง พบว่ากรรมวิธีทดสอบได้ผลผลิตเฉลี่ย 7,880 กก./ไร่ มีต้นทุน 21,935 บาท/ไร่ มีรายได้สุทธิ 17,465 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 7,524 กก./ไร่ มีต้นทุน 22,324 บาท/ไร่ มีรายได้สุทธิ 15,296 บาท/ไร่ จังหวัดชลบุรี พบว่ากรรมวิธีทดสอบได้ผลผลิตเฉลี่ย 5,320 กก./ไร่ มีต้นทุน 18,725 บาท/ไร่ มีรายได้สุทธิ 7,875 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,768 กก./ไร่ มีต้นทุน 22,748 บาท/ไร่ มีรายได้สุทธิ 1,092 บาท/ไร่ จังหวัดฉะเชิงเทราพบว่า วิธีทดสอบได้ผลผลิตเฉลี่ย 5,253 กก./ไร่ มีต้นทุน 16,884.68 บาท/ไร่ มีรายได้สุทธิ 15,683.92 บาท/ไร่ วิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,962 กก./ไร่ มีต้นทุน 15,674.80 บาท/ไร่ มีรายได้สุทธิ 15,089.60 บาท/ไร่

          สำหรับในพื้นที่จังหวัดจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์ ผลการทดสอบทั้ง 2 ปี พบว่ากรรมวิธีทดสอบ และกรรมวิธีเกษตรกร มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเหี่ยวเฉลี่ย 4.92 และ 8.31 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยมีการเกิดโรคเหี่ยวลดลง 3.39 เปอร์เซ็นต์ การให้ผลผลิตเฉลี่ย 4,171 และ 3,826 กก./ไร่ ตามลำดับ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ย 15,013 และ 14,241 บาท/ไร่ รายได้เฉลี่ย 20,246 และ 18,514 บาท/ไร่ มีรายได้สุทธิเฉลี่ย 5,232 และ 4,347 บาท/ไร่ ตามลำดับ โดยกรรมวิธีทดสอบมีรายได้สูงกว่าวิธีเกษตรกร 885 บาท/ไร่


ไฟล์แนบ
.pdf   298_2556.pdf (ขนาด: 699.25 KB / ดาวน์โหลด: 2,526)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม