การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังหลังนาโดยอาศัยน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก
#1
การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังหลังนาโดยอาศัยน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก
นรีลักษณ์ วรรณสาย, กัณทิมา ทองศรี, นิภาภรณ์ พรรณรา และสนอง  บัวเกตุ

          การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่ปลูกหลังการทำนา ในพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ในฤดูแล้งปี 2556 และ 2557 ทำการปลูกมันสำปะหลังทันทีหลังเก็บเกี่ยวข้าวประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังเมื่ออายุ 6 เดือนหลังปลูก โดยนำเทคโนโลยีด้านพันธุ์และการใช้ปุ๋ยที่ผ่านการวิจัยมาแล้วนำมาทดสอบในสภาพแปลงเกษตรกร ใช้สายพันธุ์มันสำปะหลังที่มีศักยภาพเมื่อปลูกหลังฤดูกาลทำนาคือ CMR 33-38-48 ร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหลังปลูก 1 เดือน เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกรคือ ใช้พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ รองพื้นก่อนปลูก ผลการศึกษาพบว่าการปลูกมันสำปะหลังหลังการทำนาด้วยสายพันธุ์ CMR 33-38-48 ร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยใส่หลังปลูก 1 เดือน ทำให้ผลผลิตหัวสดเพิ่มขึ้น 37.7 และ 79.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ และให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน คือมีค่าอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่ม หรือ Marginal Rate of Return (MRR) เท่ากับ 646 และ 830 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 และ 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกร ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มันสำปะหลังที่ปลูกในนาเก็บเกี่ยวที่อายุเพียง 6 เดือน มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่าการปลูกในสภาพไร่โดยทั่วไปโดยมีปริมาณแป้งเฉลี่ย 11.1 และ 16.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ ดังนั้น การปลูกมันสำปะหลัง หลังฤดูกาลทำนาในพื้นที่อาศัยน้ำฝนจังหวัดพิษณุโลก เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่าก่อนการทำนาปี ควรเลือกพื้นที่นาที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วน ร่วนเหนียวปนทราย หรือร่วนเหนียว และหลีกเลี่ยงดินนาเนื้อดินเป็นดินเหนียว และดินร่วนปนทราย และใช้พันธุ์ที่มีศักยภาพ คือ สายพันธุ์ CMR 33-38-48 ร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน


ไฟล์แนบ
.pdf   54_2557.pdf (ขนาด: 131.83 KB / ดาวน์โหลด: 820)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม