การตรวจติดตามเชื้อ Columnea latent viroid (CLVd) ที่ติดเข้ามากับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ
#1
การตรวจติดตามเชื้อ Columnea latent viroid (CLVd) ที่ติดเข้ามากับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ปริเชษฐ์ ตั้งกาญจนภาสน์, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, กาญจนา วาระวิชะนี และวันเพ็ญ ศรีชาติ
กลุ่มงานไวรัสวิทยา และกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช

          เชื้อ Columnea latent viroid (CLVd) เป็นเชื้อโรคพืชกักกันตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ ลำดับที่ ๑๗๗ ไวรอยด์ชนิดนี้เป็นเชื้อสาเหตุโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ ทำให้ผลผลิตลดลงถึง 49 เปอร์เซ็นต์ เชื้อชนิดนี้มีพืชอาศัยที่กว้าง เช่น มะเขือเทศ, มันฝรั่ง, แตงกวา, พริก, มะเขือชนิดต่างๆ และไม้ประดับ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดโรคผ่านทางเมล็ดพันธุ์ได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศเพื่อใช้ทำพันธุ์ในประเทศ และผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อการส่งออกในปริมาณที่มาก จึงทำให้เชื้อไวรอยด์ดังกล่าวมีโอกาสติดเข้ามากับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าและแพร่ระบาดทำความเสียหายในประเทศไทยได้ และจากการกักกันพืชหลังการเข้ามาในปี 2551 ตรวจพบเชื้อไวรอยด์ดังกล่าวถึง 11 ตัวอย่าง แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เชื้อไวรอยด์ชนิดนี้จะปนเปื้อนติดเข้ามากับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าได้สูง ดังนั้นการนำวิธีการตรวจสอบเชื้อ Columnea latent viroid ที่ได้พัฒนาแล้วมาใช้ตรวจสอบติดตามเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่นำเข้าจากต่างประเทศจึงเป็นวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคศัตรูพืชกักกันที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่งด้วย จากผลการตรวจสอบติดตามเพื่อการสกัดเชื้อ Columnea latent viroid กับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่นำเข้าจากต่างประเทศ (interception) ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2555 ด้วยวิธีการเพาะในโรงเรือน (seedling symptom test) เพื่อสังเกตอาการ, การสุ่มตรวจด้วยเทคนิค Nucleic Hybridization และ RT-PCR (Reverse Transcription-Polymerase Chain Reaction) โดยสุ่มตรวจตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศในปี 2554 จำนวน 6 ครั้ง จาก 7 ประเทศ และในปี 2555 จำนวน 10 ครั้ง จาก 12 ประเทศ พบว่าไม่มีตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ใดแสดงอาการผิดปกติที่เป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรอยด์ให้พบ (seedling symptom test) และเมื่อทำการสุ่มตรวจวินิจฉัยขั้นละเอียดด้วยเทคนิค Nucleic Hybridization และ RT-PCR เพื่อยืนยันพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดให้ผลตรวจพบเชื้อ CLVd และจากการสำรวจและตรวจสอบเชื้อไวรอยด์ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่ใช้ที่ใช้เมล็ดพันธุ์พ่อแม่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยวิธีการปลูกเชื้อในพืชทดสอบ (Biological indexing) และเทคนิค RT-PCR ตรวจพบเชื้อ CLVd จำนวน 4 ตัวอย่าง และเชื้อ Pepper chat fruit viroid (PCFVd) จำนวน 4 ตัวอย่าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรอยด์ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวอาจเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยแล้ว (establish) หรือวิธีการในการตรวจติดตามการปนเปื้อนของเชื้อกับเมล็ดพันธุ์นำเข้ายังไม่เหมาะสม ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยอัตราการปนเปื้อนของเชื้อที่ต่ำ


ไฟล์แนบ
.pdf   2471_2555.pdf (ขนาด: 1.67 MB / ดาวน์โหลด: 2,887)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม