ปฏิสัมพันธ์ของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพริกขี้หนูผลใหญ่
#1
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพริกขี้หนูผลใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี
ศัสยมน นิเทศพัตรพงศ์, อำไพ ประเสริฐสุข และนันทนา โพธิ์สุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี

          พริกเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหาร สำหรับใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน (N) และโพแทสเซียม (K) ซึ่งปฏิกิริยาสัมพันธ์ของธาตุอาหารทั้งสองนี้ มีลักษณะส่งเสริมกันเมื่อใส่ในอัตราส่วนที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น การศึกษานี้จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของการใส่ธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพริกขี้หนูผลใหญ่ ดำเนินการในปี พ.ศ. 2556 - 2557 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี วางแผนการทดลองแบบ 3x3+1 Factorial in RCB 3 ซ้ำ 9 treatement combination +1 check มี 2 ปัจจัย ปัจจัยที่ 1 คือ ใส่ธาตุ N มี 3 ระดับ ได้แก่ 12 18 และ 24 กิโลกรัม N ต่อไร่ ปัจจัยที่ 2 คือ ใส่ธาตุ K มี 3 ระดับ ได้แก่ 12 18 และ 24 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ และกรรมวิธี check คือ ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 80 กิโลกรัมต่อไร่ (ตาม GAP) ปลูกพริกขี้หนูพันธุ์ซูเปอร์ฮอท ใช้ระยะปลูก ระหว่างต้น 0.50 เมตร และระหว่างแถว 0.75 เมตร ใน 1 แปลงย่อยมีต้นพริก 55 ต้น พื้นที่แปลงย่อย 20.625 ตารางเมตร สุ่มเก็บต้นพริก 24 ต้นต่อแปลงย่อย หรือมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 9 ตารางเมตร ผลการทดลองในปีที่ 1 พบว่าไม่มีปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างธาตุ N และ K ต่อการเจริญเติบโตด้านความสูงและความกว้างทรงพุ่ม ผลผลิตสดสะสม ผลปกติ น้ำหนัก 100 ผล ต้นพริกในทุกกรรมวิธี ให้ผลผลิตสดสะสมเฉลี่ย 688.1 กิโลกรัม/ไร่ และกรรมวิธี check มีผลผลิตสดสะสมเฉลี่ย 653.9 กิโลกรัม/ไร่ น้ำหนักผลปกติเฉลี่ยในทุกกรรมวิธี เท่ากับ 493.5 กิโลกรัม/ไร่ และกรรมวิธี check มีน้ำหนักผลปกติเฉลี่ย 466.5 กิโลกรัม/ไร่ น้ำหนักผลผิดปกติเฉลี่ยในทุกกรรมวิธี เท่ากับ 194.6 กิโลกรัม/ไร่ และกรรมวิธี check มีน้ำหนักผลผิดปกติเฉลี่ย 187.4 กิโลกรัม/ไร่ และมีน้ำหนัก 100 ผลเฉลี่ย ในทุกกรรมวิธีเท่ากับ 146.7 กรัม และกรรมวิธี check มีน้ำหนัก 100 ผล เฉลี่ย 142.8 กรัม และผลการทดลองปีที่ 1 มีแนวโน้มว่าการใส่ธาตุ N อัตรา 18 กก.N/ไร่ ร่วมกับ ธาตุ K 18 กก.K2O/ไร่ (N2K2) ให้ผลผลิตสดสะสมสูงสุดเฉลี่ย 851.7 กิโลกรัมต่อไร่ และให้น้ำหนักผลปกติสูงสุดเช่นกัน

          ผลการทดลองปีที่ 2 มีความแปรปรวนสูงมาก (CV>70%) เนื่องจากถูกโรคและแมลงศัตรูพืชทำลาย ทำความเสียหายให้กับต้นพริกในแปลงทดลอง


ไฟล์แนบ
.pdf   171_2557.pdf (ขนาด: 200.21 KB / ดาวน์โหลด: 1,010)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพริกขี้หนูผลใหญ่ - โดย doa - 02-17-2017, 02:27 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม