การศึกษาวิธีการใช้ประโยชน์ปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดน้ำต่อการเจริญของข้าว
#1
การศึกษาวิธีการใช้ประโยชน์ปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดน้ำต่อการเจริญเติบโตของข้าวระยะต้นกล้า
ประไพ ทองระอา, สมปอง หมื่นแจ้ง, ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต และกัลยกร โปร่งจันทึก
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          เพื่อศึกษาวิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ตรึงไนโตรเจนได้ชนิดน้ำต่อการเจริญเติบโตของข้าวพันธุ์ กข 43 ในระยะต้นกล้า ดำเนินการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Nostoc entophylum DASH 06142 ในอาหารเหลวผสมปราศจากไนโตรเจน สภาพเรือนทดลอง เมื่อสาหร่ายเจริญเติบโตนาน 30 วัน ทำการเก็บเกี่ยวเซลล์สาหร่ายโดยกรองผ่านผ้าขาวบาง ล้างเซลล์ด้วยน้ำกลั่น 3 ครั้ง รอให้เซลล์สาหร่ายแห้งพอหมาด ทำการชั่งหาน้ำหนักสด และเติมน้ำกลั่นนึ่งฆ่าเชื้อปริมาตรเป็น 10 เท่าของน้ำหนักเซลล์สด นำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส นาน 12 ถึง 24 ชั่วโมง ทำการละลายน้ำแข็งและเขย่าสารละลายให้เข้ากัน จะได้สารสกัดเซลล์สาหร่ายเข้มข้น นำไปทดสอบแช่เมล็ดข้าวในเพลทแก้วที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ 10 ระดับ คือ 10 20 30 40 50 60 70 80 90  (ปริมาตรต่อปริมาตรสารสกัดเซลล์เข้มข้นในน้ำกลั่น) และ 100 เปอร์เซ็นต์สารสกัดเซลล์เข้มข้นเปรียบเทียบกับน้ำกลั่น เมื่อข้าวอายุได้ 15 วัน เก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโตคือ ความสูงของต้น ความยาวราก น้ำหนักต้นแห้ง และน้ำหนักต้นและรากแห้ง ผลการทดลองพบว่า สารสกัดเซลล์สาหร่ายที่ระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 10 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เข้มข้น ตามลำดับ ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากน้ำกลั่นอย่างชัดเจน โดยความสูงและน้ำหนักต้นแห้งจะเพิ่มขึ้นเมื่อความเข้มข้นของสารสกัดเซลล์เพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนความยาวรากพบว่า ที่ระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 10 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ มีความยาวรากเพิ่มขึ้นจากน้ำกลั่นอย่างชัดเจนทุกตำรับการทดลอง และพบว่าที่ระดับความเข้มข้นที่ 10 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ความยาวรากเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าเพิ่มความเข้มข้นสูงถึงระดับ 80 และ 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีผลยับยั้งการเจริญของรากข้าว และทำการศึกษาผลของการรดสารสกัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินต่อการเจริญเติบโตของข้าวในถาดเพาะกล้าในดินร่วนทราย ที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ คือ 40 60 80  (ปริมาตรต่อปริมาตรสารสกัดเซลล์เข้มข้นในน้ำกลั่น) และ 100 เปอร์เซ็นต์สารสกัดเซลล์เข้มข้น เปรียบเทียบกับน้ำประปา เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน พบว่า กล้าข้าวที่รดด้วยสาหร่ายทุกความเข้มข้นมีความสูงใกล้เคียงกันและไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่ทุกความเข้มข้นมีความสูงมากกว่าน้ำประปาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านน้ำหนักรากและต้นแห้งพบว่า ที่ความเข้มข้น 40 เปอร์เซ็นต์  ให้น้ำหนักรากและต้นแห้งไม่แตกต่างกันทางสถิติกับน้ำประปา ส่วนความเข้มข้น 60 80 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้น้ำหนักแห้งใกล้เคียงกันและสูงกว่าน้ำประปาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


ไฟล์แนบ
.pdf   1945_2553.pdf (ขนาด: 1,014.88 KB / ดาวน์โหลด: 2,029)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม