โรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทองและการควบคุมโดยใช้สารปลอดภัย
#1
โรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทองและการควบคุมโดยใช้สารปลอดภัย
บุญญวดี จิระวุฒิ, รัตตา สุทธยาคม, อมรา ชินภูติ และเสริมสุข สลักเพ็ชร์
สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

การศึกษาโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทองและการควบคุมโดยใช้สารปลอดภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดของเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่าและวิธีการควบคุมโรคโดยใช้สารปลอดภัย เพื่อให้ได้กล้วยหอมทองปลอดโรคที่มีคุณภาพดี และสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น ดำเนินการทดลองที่สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 – กันยายน 2553 จากการศึกษาพบว่า กล้วยหอมทองมีความอ่อนแอต่อโรคขั้วหวีเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราสาเหตุ 5 ชนิด คือ Lasiodiplodia theobromae, Fusarium oxysporum, Colletotrichum musae, Pestalotiopsis sp. และ Phomopsis sp. เชื้อราจะเข้าทำลายบริเวณขั้วหวีทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนเป็นสีดำ เน่าลุกลามสู่ก้านของผลทำให้ผลหลุดร่วงได้ง่าย ทำให้คุณภาพของกล้วยหอมทองลดลง โดยที่เชื้อรา L. theobromae เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดอาการขั้วหวีเน่ารุนแรงกว่าเชื้อชนิดอื่น การควบคุมโรคโดยการทดสอบประสิทธิภาพของสารปลอดภัย 3 ชนิด วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด จำนวน 16 กรรมวิธี คือ potassium sorbate, oxalic acid และ salicylic acid ความเข้มข้น 4 ระดับ คือ 100, 250, 500 และ 1,000 mg/l เปรียบเทียบกับ น้ำ และ imazalil 250 และ 500 mg/l พบว่า สาร salicylic acid ความเข้มข้น 1,000 mg/l สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่าทั้ง 5 ชนิด โดยยับยั้งเชื้อ L. theobromae, F. oxysporum, C. musae , Pestalotiopsis sp. และ Phomopsis sp. ได้ 45.67, 100.00, 100.00, 82.35 และ 79.45 % ตามลำดับ เมื่อนำมาทดสอบความสามารถในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทองที่ติดมาจากแปลงปลูก พบว่า สาร potassium sorbate 500 mg/l มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคได้ดี และสามารถยับยั้งความรุนแรงของโรคได้ถึง 81.65 % ในขณะที่สาร salicylic acid 250 mg/l สามารถยับยั้งความรุนแรงของโรคได้ 26.49 % ในกล้วยหอมทองที่ได้รับการปลูกเชื้อ L. theobromae แต่เมื่อนำกล้วยหอมทองจุ่มสารปลอดภัยก่อนปลูกเชื้อ L. theobromae พบว่าสาร oxalic acid 100 mg/l และ สาร salicylic 250 mg/l มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคได้ดี สามารถยับยั้งความรุนแรงของโรคได้ 49.47 และ 47.00 % การใช้สารปลอดภัยในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทองหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ปลอดสารเคมีที่เป็นพิษ และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกกล้วยหอมทองของประเทศไทยอีกด้วย


ไฟล์แนบ
.pdf   1850_2554.pdf (ขนาด: 1.46 MB / ดาวน์โหลด: 16,874)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม