วิจัยหาวิธีการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอกที่เหมาะสมแต่ละแหล่งปลูก
#1
วิจัยหาวิธีการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอกที่เหมาะสมแต่ละแหล่งปลูก
ตรียนัย ตุงคะเสน, อรรถสิทธิ์ บุญธรรม, วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ และเบญจมาศ คำสืบ

          ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอก 45 วัน 3 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรรณบุรี ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมา โดยวางแผนการทดลองแบบ split plot in RCB จำนวน 4 ซ้ำ Main plot คือ 1) วิธีการให้น้ำชลประทานเสริม 2) ไม่ให้น้ำชลประทานเสริม Sub plot คือ วิธีการกำจัดวัชพืช 7 วิธีการ คือ 1) ใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตาม 2) ใช้จอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ 3) ใช้พ่นด้วยสารกำจัดวัชพืช hexazinone/diuron อัตรา 300 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ 4) ใช้พ่นด้วยสารกำจัดวัชพืช ametryn อัตรา 400 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ 5) ใช้พ่นด้วยสารกำจัดวัชพืช paraquat อัตรา 82.8 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ 6) ใช้แรงงานคนกำจัดวัชพืชหรือดายหญ้า 7) ไม่มีการกำจัดวัชพืช ดำเนินการกำจัดวัชพืชด้วยวิธีการต่างๆ ภายหลังการปลูกอ้อย 45 วัน โดยมีการพ่นสารกำจัดวัชพืชก่อนงอกในทุกวิธีการเมื่อปลูกอ้อย จากการทดลองในปีงบประมาณ 2549 พบว่า ชนิดวัชพืชเด่นที่พบในแปลงทดลองในแต่ละสถานที่ซึ่งดำเนินการแตกต่างกัน การใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอก สามารถกำจัดวัชพืชได้ดี แต่มีความเป็นพิษต่อต้นอ้อยในระยะแรกและความเป็นพิษต่อต้นอ้อยจะหมดไปภายใน 60 วันหลังการพ่น ส่วนการใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตาม และจอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ ไม่มีผลกระทบต่อต้นอ้อย แต่ไม่สามารถกำจัดวัชพืชที่อยู่ระหว่างต้นอ้อยภายในร่อง (แถว) อ้อยได้ ทำให้น้ำหนักแห้งของวัชพืชภายหลังการกำจัดวัชพืช 60 วัน โดยเฉลี่ยสูงกว่าการกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมีพ่นกำจัดวัชพืช ด้านประสิทธิภาพในการใช้สารกำจัดวัชพืช เมื่อพิจารณาน้ำหนักแห้งของวัชพืชภายหลังการกำจัดวัชพืช 60 วัน พบว่า การดำเนินงานมีประสิทธิภาพต่างกันในแต่ละสถานที่ทดลอง โดยในแปลงที่มีการให้น้ำชลประทานเสริม ของศูนย์วิจัยพืชไร่ (ศวร.) สุพรรณบุรี การใช้สารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน (ametryn) มีประสิทธิภาพดีที่สุด รองลงมาคือ สารกำจัดวัชพืชผสมของเฮกซาซิโนนกับไดยูรอน (hexazinone/diuron) และพาราควอท (paraquat) ตามลำดับ 

          ส่วนที่ ศวร.นครสวรรค์ ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการใช้สารกำจัดวัชพืช ในแปลงที่ไม่ให้น้ำชลประทานเสริมนั้น การใช้สารกำจัดวัชพืช hexazinon/diuron ที่ ศวร.สุพรรณบุรี สามารถควบคุมวัชพืชได้นานที่สุด ที่ ศวร.นครสวรรค์ การใช้สารกำจัดวัชพืช hexazinon/diuron และสารกำจัดวัชพืช paraquat มีประสิทธิภาพในการควบคุมและกำจัดวัชพืชดีกว่าการใช้สารกำจัดวัชพืช ametryn ส่วนที่ ศวร.นครราชสีมา การใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นหลังปลูกอ้อย 45 วัน ไม่สามารถควบคุมวัชพืชได้ ที่ ศวร.สุพรรณบุรีทั้งในแปลงที่ให้น้ำและไม่ให้น้ำชลประทานเสริม การใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตามทำให้อ้อยมีผลผลิตสูงสุด 12.8และ 15 ตันต่อไร่ ตามลำดับ รองลงมาคือ การใช้สารกำจัดวัชพืช ametryn ซึ่งให้ผลผลิต 11.8 และ 14.8 ตันต่อไร่ ส่วนการใช้สารกำจัดวัชพืช hexazinon/diuron ในแปลงให้น้ำชลประทานช่วย ให้ผลผลิตต่ำกว่าการกำจัดวัชพืชโดยวิธีอื่น คือ ให้ผลผลิต 9.8 ตันต่อไร่ เช่นเดียวกับการใช้สารกำจัดวัชพืช hexazinon/diuron ในแปลงที่มีการให้น้ำชลประทานช่วยที่ ศวร.นครสวรรค์ ให้ผลผลิตอ้อย 9.2 ตัน/ไร่ ซึ่งต่ำกว่าการกำจัดวัชพืชโดยวิธีอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในแปลงที่ไม่ให้น้ำชลประทานเสริมหรือช่วยทั้ง 2 แห่ง ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติระหว่างวิธีการกำจัดวัชพืช สำหรับ ศวร.นครราชสีมา การใช้สารกำจัดวัชพืช paraquat ให้ผลผลิตอ้อยต่ำกว่าการกำจัดวัชพืชโดยวิธีอื่น และการใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตาม และจอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ ให้ผลผลิตอ้อยสูงกว่าการใช้สารกำจัดวัชพืช


ไฟล์แนบ
.pdf   889_2551.pdf (ขนาด: 1.7 MB / ดาวน์โหลด: 2,621)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม