ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
#1
ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก (post-emergence) ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สิริชัย สาธุวิจารณ์, ศิวิไล ลาภบรรจบ, จรรยา มณีโชติ และวนิดา ธารถวิล
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5

          การทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ได้วิธีการจัดการวัชพืชประเภทหลังงอกที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินการทดลองระหว่างเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2554 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ มี 13 กรรมวิธี ได้แก่ การพ่นสารกำจัดวัชพืช paraquat, glufosinate ammonium, fluroxypyr, triclopyr, mesotrione/atrazine, nicosulfuron, pyroxasulfone, paraquat + mesotrione/atrazine, paraquat + nicosulfuron, paraquat + pendimethalin และ paraquat + pyroxasulfone อัตรา 150, 105, 32, 150, 150, 20, 20, 80+150, 80+15, 80+60 และ 80+15 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ ตามลำดับ หลังปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 30 วัน กรรมวิธีกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานและกรรมวิธีไม่กำจัดวัชพืช โดยหลังปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พ่นสารกำจัดวัชพืช atrazine อัตรา 300 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ ปฏิบัติและดูแลรักษาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผลการทดลองพบว่า สารกำจัดวัชพืช paraquat, glufosinate ammonium, triclopyr, paraquat + mesotrione/atrazine, paraquat + nicosulfuron, paraquat + pendimethalin และ paraquat + pyroxasulfone มีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชได้ดี ที่ระยะ 15 และ 30 วัน หลังพ่นสารกำจัดวัชพืช และไม่เป็นพิษต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ระยะ 30 วัน หลังพ่นสารกำจัดวัชพืช โดยสามารถควบคุมวัชพืชหลัก ได้แก่ แห้วหมู (Cyperus rotundus L.) และผลผลิตเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในทุกกรรมวิธีไม่แตกต่างกันทางสถิติ


ไฟล์แนบ
.pdf   1990_2554.pdf (ขนาด: 113.6 KB / ดาวน์โหลด: 865)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม