การผลิตแอนติซีรัมจากไก่ที่จำเพาะต่อเชื้อ Streptomyces scabies
#1
การผลิตแอนติซีรัมจากไก่ที่จำเพาะต่อเชื้อ Streptomyces scabies สาเหตุโรคแผลสะเก็ดของมันฝรั่งและการตรวจหาเชื้อนี้จากหัวพันธุ์นำเข้าและมันฝรั่งที่ผลิตได้ในประเทศ
วงศ์ บุญสืบสกุล, ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, วิวัฒน์ ภานุอำไพ และขนิษฐา วงศ์วัฒนารัตน์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศบป.เชียงใหม่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ

          สำรวจและเก็บตัวอย่างจากผู้นำเข้า 2 ราย สหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่ง 1 ราย ได้ตัวอย่างหัวพันธุ์มันฝรั่งที่นำเข้าจาก ต่างประเทศที่แสดงอาการโรคแผลสะเก็ด 23 ตัวอย่าง เก็บตัวอย่างหัวมันฝรั่งจากแปลงเกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งในประเทศ 19 ราย ได้ 32 ตัวอย่าง รวม 55 ตัวอย่าง แยกได้เชื้อแบคทีเรียจากอาการแผลสะเก็ดด้วยอาหารกึ่งจำเพาะ NPPC (Nystatin, polymyxin, penicillin, cycloheximide water agar) 44 ไอโซเลท เป็นมันฝรั่งนำเข้า 19 ไอโซเลท มันฝรั่งในประเทศ 25 ไอโซเลท เมื่อนำมาทดสอบการเป็นเชื้อสาเหตุโรคพบว่า 22 ไอโซเลท ทำลายหัวมันฝรั่งเป็น แผลสะเก็ด แยกเชื้อกลับ (reisolation) ได้เชื้อ 19 ไอโซเลท เก็บรักษาเชื้อที่เป็นเชื้อสาเหตุโรคแผลสะเก็ดในรูปถาวร กึ่งถาวรและชั่วคราว เพื่อใช้ในการทดลองและศึกษาต่อไป จากการทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมีและการสร้างสปอร์จากเชื้อ 5 ไอโซเลท พบว่าเชื้อทั้งหมดมีปฏิกิริยาเป็นชนิดแกรมบวก โคโลนีสีเทาเกาะกันแน่นคล้ายเส้นใยเชื้อราแต่ขนาดเล็กกว่า สร้างเม็ดสีสีน้ำตาลในอาหารดูด้วยกล้องจุลทรรศน์พบว่า สปอร์เรียงต่อกันเป็นเกลียวอยู่เหนือโคโลนีและสามารถสร้างกรด ใน sucrose glucose lactose mannital inositol xylose cellulose จากคุณสมบัติดังกล่าวสามารถสรุป ได้ว่าเป็นเชื้อ S. scabies ตาม Loria et al. (1997) เลือกเชื้อ S. scabies ที่พบในมันฝรั่งนำเข้าและที่ผลิตในประเทศอย่างละไอโซเลทมาทำการผลิตแอนติซีรัมที่เฉพาะต่อเชื้อนี้จากไก่ตามขั้นตอนของ Akita, E.M. and Nakai, S. 1993. พบว่า แอนติเซรัมที่ผลิตได้มีปฏิกิริยาทางเซรุมวิทยาจำเพาะต่อเชื้อ S. scabies และสามารถผลิตได้ปริมาณมากพอที่จะได้นำไปพัฒนาเป็นชุดสำเร็จเพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อสาเหตุโรคแผลสะเก็ดต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1244_2552.pdf (ขนาด: 164.91 KB / ดาวน์โหลด: 731)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม