การบริหารศัตรูกล้วยไม้โดยวิธีผสมผสาน
#1
การบริหารศัตรูกล้วยไม้โดยวิธีผสมผสาน
ทวีศักดิ์ ชโยภาส, สมรวย รวมชัยอภิกุล, สุรภี กีรติยะอังกูร, ทัศนาพร ทัศคร, อุราพร หนูนารถ, อัจฉรา ตันติโชดก, ชมพูน
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การบริหารศัตรูกล้วยไม้โดยวิธีผสมผสาน (IPM) ดำเนินการทดสอบในแปลงกล้วยไม้ของเกษตรกร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ปี 2552 โดยการบริหารศัตรูพืช (แมลงศัตรูพืชและโรคพืช) แบบผสมผสานซึ่งมีการใช้ระดับเศรษฐกิจ การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวิธีกล (เก็บทำลายศัตรูพืช) เปรียบเทียบกับวิธีการของเกษตรกร ซึ่งมีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเท่านั้น ผลจากการสำรวจศัตรูพืชโดยสุ่มนับทุก 7 วัน รวม 23 ครั้ง พบแมลงศัตรูกล้วยไม้ 2 ชนิด ได้แก่ เพลี้ยไฟ และ บั่วกล้วยไม้ โรคกล้วยไม้ 3 ชนิด ได้แก่ โรคเกสรดำ โรคดอกจุดสนิม และโรคใบปื้นเหลือง ทั้งในแปลงทดสอบวิธีผสมผสาน และแปลงวิธีการของเกษตรกร

          ชนิดของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชพบว่า ในแปลงทดสอบการบริหารศัตรูกล้วยไม้โดยวิธีผสมผสาน มีการใช้สารฆ่าแมลง 6 ชนิด ได้แก่ imidacloprid, fipronil, spinosad, spiromesifen, emamectin benzoate และ thiamethoxam + lambda-cyhalothrin สารป้องกันกำจัดโรคพืช 4 ชนิด ได้แก่ captan, prochloraz, mancozeb และ canbendazim เปรียบเทียบกับวิธีการของเกษตรกรซึ่งมีการใช้สารฆ่าแมลง และสารฆ่าไรรวม 8 ชนิด ได้แก่ abamectin, fipronil, imidacloprid, chlopyrifos, cypermethrin, chlopyrifos + cypermethrin, amitraz และ sulfur ส่วนสารป้องกันกำจัดโรคพืช วิธีการของเกษตรกรมีการใช้ 5 ชนิด ได้แก่ captan, prochloraz, mancozeb, canbendazim และ metalaxyl พบว่า วิธีผสมผสานมีปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชรวมทั้งสิ้น 6.25 ลิตรต่อไร่ ขณะที่วิธีของเกษตรกรใช้สูงถึง 26.08 ลิตรต่อไร่ ทำให้วิธีผสมผสานลดปริมาณการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงได้ 76.04 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   1162_2552.pdf (ขนาด: 173.82 KB / ดาวน์โหลด: 597)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม