ทดสอบและเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารสกัดจากใบมะขาม ใบว่านหางจระเข้ ฝักจามจุรีกับหอย
#1
ทดสอบและเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารสกัดจากใบมะขาม ใบว่านหางจระเข้ ฝักจามจุรี กับหอยซัคซิเนียและหอยเลขหนึ่ง
ดาราพร รินทะรักษ์, ชมพูนุท จรรยาเพศ, ปิยาณี หนูกาฬ และศิริพร ซึงสนธิพร
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ตุลาคม 2551 – มีนาคม 2553 ได้สำรวจและเก็บข้อมูลการระบาดของหอยซัคซิเนีย Succinea sp. และหอยเลขหนึ่ง Ovachlamys fulgens (Gude) ในสวนกล้วยไม้ จังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสาครพบว่า หอยทั้ง 2 ชนิด มีการระบาดตลอดทั้งปีโดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม พบการระบาดระดับปานกลางถึงค่อนข้างมาก (ประชากรหอยซัคซิเนียโดยเฉลี่ย 15 - 37 ตัว/เมตร2, หอยเลขหนึ่ง 2 – 4.6 ตัว/เมตร2 ) เก็บตัวอย่างหอยทั้ง 2 ชนิด มาปรับสภาพในห้องปฏิบัติการ 3 วัน ก่อนนำมาทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดจากใบมะขาม ใบว่านหางจระเข้ และฝักจามจุรีที่สกัดเตรียมไว้ โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับสารฆ่าหอย 3 ชนิด ได้แก่ niclosamide 70%WP, สารสกัดจากเมล็ดชา 10%DP และสารสกัดมะคำดีควาย 10% วางแผนการทดลองแบบ RCB 18 กรรมวิธี ๆ ละ 3 ซ้ำ และวิเคราะห์หาค่า LC50 ของสารสกัดจากพืชแต่ละชนิดด้วยโปรแกรมโพรบิท (Probit analysis) ตามวิธีการของ Finney, 1971

          ผลการศึกษาเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ พบว่าสารสกัดจากใบว่านหางจระเข้ ที่อัตราความเข้มข้น 25% มีประสิทธิภาพทำให้หอยทั้ง 2 ชนิด ตาย 100 % ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารซึ่งให้ผลไม่แตกต่างทางสถิติกับสารเปรียบเทียบทั้ง 3 ชนิด (ที่ระดับ P </= 0.05) ส่วนประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบมะขาม และฝักจามจุรีที่อัตราความเข้มข้น 50 และ 100 % ทำให้หอยทั้ง 2 ชนิด ตาย 100% หลังจากได้รับสาร 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ยังต้องวิเคราะห์หาค่า LC50 ของสารแต่ละชนิด เพื่อประเมินเปรียบเทียบประสิทธิภาพและหาอัตราการใช้ที่เหมาะสมพร้อมกับทดสอบในสภาพแปลงทดลองต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1326_2552.pdf (ขนาด: 299.78 KB / ดาวน์โหลด: 1,558)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม