อนุกรมวิธานและชีววิทยาของราสกุล Choanephora สาเหตุโรคเน่าเปียก (Wet rot)
#1
อนุกรมวิธานและชีววิทยาของราสกุล Choanephora สาเหตุโรคเน่าเปียก (Wet rot)
ธารทิพย ภาสบุตร, อภิรัชต์ สมฤทธิ์ และทัศนาพร ทัศคร
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช


          การสำรวจเก็บตัวอย่างพืชที่เป็นโรค จากแปลงปลูกของเกษตรกร ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ ชลบุรี และจันทบุรี ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก ความชื้นสูงและมักพบการระบาดของโรค ได้ตัวอย่างพืชที่เป็นโรคเน่าเปียก (wet rot) ที่เกิดจากเชื้อรา Choanephora sp. จำนวน 33 ตัวอย่าง พืช 13 ชนิด ได้แก่ พริกขี้หนู 7 ตัวอย่าง พริกชี้ฟ้า 4 ตัวอย่าง กระเจี๊ยบ 2 ตัวอย่าง มะเขือเปราะ 2 ตัวอย่าง ถั่วพู 1 ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว 2 ตัวอย่าง โทงเทง (วัชพืช) 2 ตัวอย่าง ผักโขม (วัชพืช) 2 ตัวอย่าง ถั่วลันเตา 3 ตัวอย่าง คะน้า 2 ตัวอย่าง ชบา 1 ตัวอย่าง มะเขือยาว 1 ตัวอย่าง ฟักทอง 2 ตัวอย่าง ถั่วเขียว 1 ตัวอย่าง และดอกกล้วยไม้สกุลหวาย 1 ตัวอย่าง ผลการศึกษาลักษณะทางสัณฐานจำแนกชนิดได้เป็นรา Choanephora cucurbitarum (Berk. & Rav.) Thaxt. ผลการศึกษาการเจริญของเส้นใยรา Ch. cucurbitarum บนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA, Half PDA, PCA, CA และ MEA ที่อุณหภูมิ 20 25 และ 30 องศาเซลเซียส พบว่าเส้นใยรา Ch. cucurbitarum มีลักษณะฟูสูงขึ้นจากผิวอาหาร แต่มีบางส่วนที่เจริญแบนราบไปกับผิวอาหาร เมื่อโคโลนีมีอายุได้ 1 วัน เส้นใยยังไม่มีการสร้างโคนิเดีย เมื่อโคโลนีมีอายุได้ 2 วัน จะเห็นเป็นจุดๆ ของ sporangium และ conidium เมื่อโคโลนีมีอายุได้ 4 - 5 วัน เส้นใยจะมีลักษณะเหนียวและยุบเมื่อถูกสัมผัส ที่อุณหภูมิ 25 และ 30 องศาเซลเซียส เส้นใยรา Ch. cucurbitarum เจริญอย่างรวดเร็วเต็มจานอาหารเลี้ยงเชื้อ เมื่อเลี้ยงเป็นเวลา 2 วัน ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส บนอาหาร PDA และ Half PDA เส้นใยรา Ch. cucurbitarum สร้าง conidium ได้มากกว่าที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาชนิดพืชอาศัยของรา Ch. cucurbitarum โดยการสำรวจเก็บตัวอย่างพบพืชอาศัยของรา Ch. cucurbitarum คือ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า กระเจี๊ยบ มะเขือเปราะ ถั่วพู ถั่วฝักยาว โทงเทง (วัชพืช) ผักโขม (วัชพืช) ชบา ถั่วลันเตา คะน้า มะเขือยาว ฟักทอง ถั่วเขียว และดอกกล้วยไม้สกุลหวาย ผลการศึกษาชนิดพืชอาศัยของรา Ch. cucurbitarum โดยการปลูกเชื้อบนต้นพืชพบว่า รา Ch. cucurbitarum ที่แยกได้จากพริกขี้หนูทำให้พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า แตงกวา คะน้า ผักโขม แสดงอาการโรคในระดับ 3 รา Ch. cucurbitarum ที่แยกได้จากถั่วลันเตา ทำให้ ถั่วลันเตา แสดงอาการโรคในระดับ 3 พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า แตงกวา คะน้า ผักโขม แสดงอาการโรคในระดับ 2 รา Ch. cucurbitarum ที่แยกได้จากคะน้า ทำให้ คะน้า พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า แตงกวา ผักโขม แสดงอาการโรคในระดับ 2 รา Ch. cucurbitarum ที่แยกได้จากผักโขมทำให้ ถั่วลันเตา ผักโขม แสดงอาการโรคในระดับ 3 พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า แสดงอาการโรคในระดับ 2แตงกวา คะน้า ไม่แสดงอาการโรค โดยการปลูกเชื้อบนผลพืชพบว่า รา Ch. cucurbitarum ที่แยกได้จากพริกขี้หนู ทำให้ ผลพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า แตงกวา แสดงอาการโรคในระดับ 2 รา Ch. cucurbitarum ที่แยกได้จากถั่วลันเตา ทำให้ฝักถั่วลันเตา ผลพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า แตงกวา แสดงอาการโรคในระดับ 2 รา Ch. cucurbitarum ที่แยกได้จากคะน้า ทำให้ผลพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า แตงกวา แสดงอาการโรคในระดับ 2


ไฟล์แนบ
.pdf   193_2556.pdf (ขนาด: 639.96 KB / ดาวน์โหลด: 3,175)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม