การวิจัยและพัฒนาการผลิตและใช้ประโยชน์จากปอ
#1
การวิจัยและพัฒนาการผลิตและใช้ประโยชน์จากปอ
แฉล้ม มาศวรรณา, ศรีสุดา ทิพยรักษ์, วันทนา เลิศศิริวรกุล, เพียงเพ็ญ ศรวัต และวิรัช อะโน
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น

          ปอเป็นพืชที่มีการปลูกมานานในประเทศไทย จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์ได้ เนื่องจากปอมีโปรตีนสูง และมีงานวิจัยการนำปอไปเป็นอาหารสัตว์ในหลายประเทศ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นจึงได้ทำการวิจัยการผลิตและใช้ประโยชน์จากปอเป็นอาหารสัตว์ ระหว่างปีพ.ศ. 2554 - 2556 จำนวน 6 การทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อหาเทคโนโลยีการผลิตปอที่เหมาะสม ได้แก่ 1) พันธุ์ปอ พันธุ์ 977-044 ปอจีน และขอนแก่น 60 2) วิธีการปลูกแบบหว่านเมล็ด 3 และ 5 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ และโรยเมล็ดเป็นแถวระยะ 30 - 50 เซนติเมตร โดยใช้เมล็ด 3 กิโลกรัมต่อไร่ 3) ความสูงในการเก็บเกี่ยว/ตัดต้นปอสูงจากพื้นดิน 50 และ 70 เซนติเมตร 4) วิธีการใส่ปุ๋ย คือ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ของ N-P2O5-K2O อัตรา 20 และ 25 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ของ N-P2O5-K2O อัตรา 20 และ 25 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอกมูลโค 500 และ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ (และใส่ปุ๋ยเคมีอัตราเดิมหลังเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง) และ 5) อายุเก็บเกี่ยวต่างๆ ที่ 40, 50, 60, 70, 75, 90 และ 105 วันหลังปลูก 6) คุณค่าทางโภชนะของปอเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์

          ผลการทดลองพบว่า ต้นปอสามารถตัดได้ 1 - 3 ครั้ง ขึ้นกับสภาพฝนและช่วงเวลาปลูกๆ เร็ว (เมษายน) จะตัดได้มากครั้ง ผลผลิตต้นปอสดรวมสูงสุด 7 ตันต่อไร่ ต้นปอแห้ง 1 ตันต่อไร่ มีแนวโน้มว่าปอคิวบาพันธุ์ 977-044 ให้ผลผลิตต้นสดและต้นแห้งสูงกว่าและมีคุณค่าทางโภชนะดีกว่าพันธุ์ขอนแก่น 60 ปอจีนและขอนแก่น 60 ให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน ปอคิวบาทั้งสามพันธุ์เหมาะที่จะใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับโคนม วิธีการปลูกที่เหมาะสม คือ การโรยเมล็ด 3 กิโลกรัมต่อไร่ ในร่องเป็นแถวห่าง 30 - 50 เซนติเมตร แล้วกลบดินหรือหว่าน 3 กิโลกรัมต่อไร่แล้วพรวนกลบเมล็ด โดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ของ N-P2O5-K2O อัตรา 20 - 25 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอกมูลโคอัตรา 0.5 - 1 ตันต่อไร่ แล้วใส่ปุ๋ยเคมีอัตราเดิมหลังเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม ควรเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ก่อนใช้ปุ๋ย ควรเก็บเกี่ยวปอที่อายุ 50 วัน ที่ความสูงต้น 50 เซนติเมตร ตัดปอหลังจากนั้นประมาณ 30 - 50 วัน ขึ้นกับการเจริญเติบโตของต้นปอๆ มีคุณค่าทางโภชนะที่เหมาะสำหรับเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ โดยมีโปรตีน 8.3 - 22.1 เปอร์เซ็นต์ ต้นอ่อนจะมีโปรตีนมากกว่าต้นแก่ การใส่ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีทำให้คุณค่าทางโภชนาโดยเฉพาะโปรตีนสูงขึ้นประมาณ 30% (จาก 10.6 - 16.5% เป็น 13.6 - 21.9%)


ไฟล์แนบ
.pdf   295_2556.pdf (ขนาด: 1,019.02 KB / ดาวน์โหลด: 2,603)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม