วิจัยและพัฒนาการผลิตพริกไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
#1
 วิจัยและพัฒนาการผลิตพริกไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
แสงมณี ชิงดวง, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, ศรีสุดา โท้ทอง, สุรศักดิ์ กาสา, ธนพร จิตจักร และสุนิตรา คามีศักดิ์

          โครงการวิจัยศึกษาการผลิตพริกไทยที่มีคุณภาพ ประกอบด้วยงานวิจัยการศึกษาและวิเคราะห์สภาพแปลงปลูกพริกไทยในแหล่งปลูกเพื่อเพิ่มคุณภาพและสารสำคัญในพริกไทย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโดย ใช้วิธีการผสมผสานในการจัดการดินและการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช การวิจัยด้านการอารักขาพืชเพื่อการป้องกันกำจัดโรครากเน่าและโคนเน่าและแมลงศัตรูที่สำคัญของพริกไทย การศึกษาการพัฒนาหลังการเก็บเกี่ยวพริกไทยเพื่อเพิ่มคุณภาพและเพิ่มมูลค่า วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาเพื่อให้ได้พันธุ์และวิธีการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่ให้ปริมาณสารสำคัญ piperine สูง ซึ่งการทดลองของโครงการฯ ได้ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร และแปลงเกษตรกร ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีผลการทดลองมีดังนี้ การศึกษาและวิเคราะห์สภาพแปลงปลูกพริกไทยในแหล่งปลูกโดยการสำรวจสภาพแปลงปลูกพริกไทยในจังหวัดพิษณุโลก จันทบุรี จำนวน 21 ราย พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยเป็นเพศชายและหญิงมีจำนวนใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี มีสมาชิกในครัวเรือนที่เป็นแรงงานสมุนไพร 1 - 3 คน และมีประสบการณ์ในการปลูกพริกไทย 7 ปีขึ้นไป การปลูกพริกไทยของเกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลกส่วนใหญ่มีพื้นที่ปลูกน้อยกว่า 1 ไร่ แต่ในจังหวัดจันทบุรี และระยอง เกษตรกรใช้พื้นที่ในการปลูกมากกว่า 5 ไร่ ลักษณะของดินที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นดินร่วน มีความลาดชันไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ ต้นพริกไทยที่เกษตรกรปลูกในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีอายุ 5 - 10 ปี โดยปลูกพริกไทย 400 ค้างต่อไร่ และใช้ระยะปลูก 2 x 2 เมตร ใช้จำนวนกิ่งพันธุ์ 2 กิ่งต่อค้าง พันธุ์พริกไทยที่ใช้ปลูก จังหวัดพิษณุโลกเป็นพันธุ์ซีลอน ส่วนจังหวัดจันทบุรีและระยองเป็นพันธุ์ซาลาวัค การให้น้ำเป็นระบบลากสายยางรด และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ผลผลิตต่อไร่ คือ 2,000 - 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตพริกไทยในจังหวัดพิษณุโลกจะจำหน่ายผลผลิตสดทั้งหมด ส่วนจังหวัดจันทบุรีและระยอง จำหน่ายผลผลิตทั้งสด - แห้ง ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อ ณ แหล่งผลิต ซึ่งเกษตรกรมีรายได้จากการขายผลผลิตพริกไทย ประมาณ 100,000 – 150,000 บาท

          การป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของพริกไทย ได้ทดลองในแปลงปลูกพริกไทยของเกษตรกร ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ปี 2555 พบว่ากรรมวิธีการใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า อัตรา 200 กรัมต่อค้าง และการใช้สารเมทาแลกซิลกับคาร์เบนดาซิม อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรและใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัมต่อค้าง แบ่งใส่ 2 ครั้งต่อปี ไม่พบการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า พบแต่โรคแอนแทรคโนสและโรคเชื้อราอื่นๆ เฉลี่ยร้อยละ 5.04 - 5.50 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกรรมวิธีของเกษตรกรที่พบการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า เฉลี่ยร้อยละ 2.38 และโรคแอนแทรคโนส กับโรคเชื้อราอื่นๆ เฉลี่ยร้อยละ 6.36 – 10.89 ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ส่วนในปี 2556 พบว่าการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าเฉลี่ยร้อยละ 0.0 - 0.77 ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติ และพบการระบาดของโรคแอนแทรคโนส กับโรคเชื้อราอื่นๆ หลังใส่กรรมวิธีเฉลี่ยร้อยละ 12.25 - 17.27 และ 20.15 - 21.17 ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง เมื่อเทียบกับกรรมวิธีของเกษตรกรที่พบการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า เฉลี่ยร้อยละ 1.53 และโรคแอนแทรคโนส กับโรคเชื้อราอื่นๆ เฉลี่ยร้อยละ 17.09, 27.81 ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง สำหรับปริมาณเชื้อราในดินหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เก็บตัวอย่างดินในแปลงทดลองและแปลงเกษตรกรมาทำการตรวจเช็คเชื้อราในห้องปฏิบัติการพบว่า แปลงทดสอบมีปริมาณเชื้อราปรปักษ์ที่ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าของพริกไทย เฉลี่ยร้อยละ 41.32 เมื่อเทียบกับแปลงเกษตรกรมีปริมาณเชื้อราปรปักษ์ เฉลี่ยร้อยละ 15.87 ตามลำดับ การเก็บเกี่ยวผลผลิตพบว่า กรรมวิธีของกรมวิชาการเกษตร คือ การใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า อัตรา 200 กรัมต่อค้างทุกๆ 2 เดือน และการใช้สารเมทาแลกซิล อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัมต่อค้าง แบ่งใส่ 2 ครั้งต่อปี สามารถป้องกันการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากเชื้อรา Phytophthora parasitica โรคแอนแทรคโนส ซึ่งเกิดจากเชื้อ Colletorichum glocosporioides โรครากขาวเกิดจากเชื้อรา Fomes lignosus และให้น้ำหนักผลผลิตพริกไทยสดดีที่สุด เฉลี่ย 8.49 - 9.04 กิโลกรัมต่อค้าง หรือเฉลี่ย 3.39 – 3.61 ตันต่อไร่ เมื่อเทียบกับกรรมวิธีของเกษตรกรที่ให้น้ำหนักผลผลิตพริกไทยสด เฉลี่ย 5.24 - 6.18 กิโลกรัมต่อค้าง หรือเฉลี่ย 2.08 - 2.47 ตันต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

          การศึกษาการพัฒนาหลังการเก็บเกี่ยวพริกไทย พบว่าเมื่อเก็บเกี่ยวพริกไทยพันธุ์ศรีลังกาที่มีอายุ 5 เดือนหลังดอกบาน จะให้ปริมาณสาร piperine สูงที่สุด คือ 1,913.8 ppm. ต่อน้ำหนักแห้ง 1 กรัม เทียบเท่ากับพริกไทยพันธุ์ซาลาวัคที่เก็บเกี่ยวที่อายุ 6 เดือนหลังดอกบานจะให้ปริมาณสาร piperine 1,910.5 ppm. ต่อน้ำหนักแห้ง 1 กรัม แต่เมื่อพิจารณาน้ำหนักแห้งที่ความชื้น 12% ในพันธุ์ศรีลังกาเมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุ 5 เดือนจะได้น้ำหนักแห้งร้อยละ 18.75 ซึ่งน้อยกว่าในพันธุ์ซาลาวัคที่เกษตรกรนิยมเก็บเกี่ยวเมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุ 6 เดือนจะได้น้ำหนักแห้งร้อยละ 20.77 แต่อย่างไรก็ตามในด้านคุณภาพที่มีปริมาณสาร piperine ใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาพริกไทยพันธุ์ศรีลังกาเป็นพริกไทยดำหรือพริกไทยขาวได้ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   304_2556.pdf (ขนาด: 1.84 MB / ดาวน์โหลด: 7,702)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม