วิจัยการบริหารจัดการศัตรูอ้อย
#1
วิจัยการบริหารจัดการศัตรูอ้อย
สุนี  ศรีสิงห์, สิริชัย สาธุวิจารณ์, ยุรวรรณ อนันตนมณี, จรรยา มณีโชติ, วันทนา  เลิศศิริวรกุล, อิสระ พุทธสิมมา, ดารารัตน์ มณีจันทร์, อมรา ไตรศิริ, ศุจิรัตน์  สงวนรังศิริกุล, กาญจนา กิระศักดิ์, นิลุบล ทวีกุล, ภาคภูมิ ถิ่นคำ, อมรรัชฏ์  คิดใจเดียว, อรทัย วรสุทธิ์พิศาล และทักษิณา ศันสยะวิชัย

          โครงการเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2554 - 2558 ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักตามประเภทของศัตรูอ้อยที่สำคัญ คือ กิจกรรมด้านการจัดการวัชพืช การจัดการด้านแมลงศัตรูอ้อยแบบผสมผสาน และการจัดการโรคใบขาวซึ่งเป็นโรคที่สำคัญของอ้อย

          ทำการทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชทั้งก่อนงอก หลังงอก และประเภทเถาเลื้อย ในพื้นที่ปลูกอ้อย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ระยอง และนครสวรรค์ พบว่า สารกำจัดวัชพืชที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่สามารถควบคุมวัชพืชในไร่อ้อยค่อนข้างดี แม้มีปัญหาเป็นพิษในช่วงแรกแต่สามารถใช้ได้ และจากการสำรวจวัชพืชทั้งในภาคกลาง 44 แปลง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 55 แปลง  จากตัวอย่างจำนวน 158 ประชากรยังไม่พบว่ามีวัชพืชต้านทานสารเคมีแต่อย่างใด การป้องกันกำจัดวัชพืชแบบผสมผสานในพื้นปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในดินร่วนทรายการปลูกพืชคลุมดินจะทำให้มีปริมาณวัชพืชลดลง แต่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเมื่อใช้ถั่วขอปลูกเป็นพืชคลุมดินและกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานและเครื่องมือติดรถไถเดินตามทำให้ได้ผลผลิตอ้อยสูงสุด และให้กำไรสูงกว่าการไม่ปลูกพืชคลุมดิน ส่วนในดินร่วนการไม่ปลูกพืชแซมจะทำให้ผลผลิตอ้อยปลูกและอ้อยตอรวมกันเพิ่มขึ้น และให้ผลกำไรสูงสุด

          ในกิจกรรมวิจัยและพัฒนาวิธีการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญ ทำการสำรวจแมลงในพื้นที่ปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปี 2554 - 2556 พบว่าแมลงอ้อยที่สำคัญ คือ หนอนกอลายจุดเล็ก และหนอนกอลายใหญ่  การแพร่ระบาดของแมลงความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญ  โดยความชื้นที่ระดับ  70% ขึ้นไปหนอนกอลายจุดใหญ่จะมีการทำลายมากที่สุด  ส่วนในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกแมลงนูนหลวงเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญ  เมื่อทำการศึกษาการเข้าทำลายในช่วงปี  2555 - 2558  ทั้งในไร่เกษตรกรและในเรือนทดลองพบว่า การทดลองปล่อยหนอนวัย3 ตั้งแต่ 1 ตัวทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง เนื่องจากน้ำหนักต่อลำลดลง ในขณะที่ไม่ทำให้ความหวานของอ้อยลดลง ส่วนการสำรวจในไร่เกษตรกรพบว่า หนอนแมลงนูนหลวงมีผลให้อ้อยเกิดความสูญเสียต่อผลผลิตน้ำหนักต่อไร่และจำนวนลำของอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ที่อายุ 12 เดือนลดลง โดยการเข้าทำลายของหนอนแมลงนูนหลวงที่ระดับ  32.22%  ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลง  55.81%  สำหรับความสูญเสียความหวานนั้นพบว่า อ้อยมีค่าความหวานสูงขึ้นเนื่องจากการสูญเสียน้ำ ระยะเวลาของการทำลายของแมลงนูนหลวงมีผลต่อความเสียหาย  เนื่องจากอ้อยจะแสดงอาการขาดน้ำเร็ว  และหากไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงแรกจะทำให้สูญเสียผลผลิตทั้งหมด  นอกจากนี้ยังพบว่ามีพื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้นเช่นในเขตอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ การให้น้ำมีผลทำให้วงจรชีวิตของด้วงหนวดยาวเปลี่ยนไป แมลงเป็นตัวเต็มวัยเร็วขึ้นและมีหนอนหลายขนาดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

          กิจกรรมการจัดการโรคใบขาวแบบผสมผสาน ใช้เทคนิคทางด้านชีวเคมีเช่น High Resolution Melting (HRM), Real time PCR เพื่อศึกษาความแตกต่างของเชื้อไฟโตพลาสมาสาเหตุโรคใบขาวอ้อย และความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีภายในอ้อยที่เป็นโรค เพื่อหาทางตรวจเชื้อที่แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันกำจัดโรคใบขาว นอกจากนี้ได้หาทางลดปัญหาความรุนแรงของโรคใบขาวได้แก่ การศึกษาผลของระยะเวลาปลูกต่อการเกิดโรค การใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมในการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรค และการใช้น้ำร้อนและสารปฏิชีวนะในการลดปริมาณเชื้อในท่อนพันธุ์และในเนื้อเยื่ออ้อยปลอดโรคตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   37_2558.pdf (ขนาด: 2.21 MB / ดาวน์โหลด: 2,846)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม