การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมัน
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมัน
วิชณีย์ ออมทรัพย์สิน, เกริกชัย ธนรักษ์, บุญณิศา ฆังคมณี, ชญาดา ดวงวิเชียร, อรุณี ใจเถิง, จิราพรรณ สุขชิต, วรกร สิทธิพงษ์, บุญเหลือ ศรีมุงคุณ, เพ็ญศิริ  จำรัสฉาย, ปัญจพร เลิศรัตน์, ชัชธนพร  เกื้อหนุน, สุปรานี  มั่นหมาย, จินดารัตน์ ชื่นรุ่ง, บรรณพิชญ์ สัมฤทธิ์, ณัฐพร ประคองเก็บ, รมิดา ขันตรีกรม, พุฒนา รุ่งระวี, จันทรา บดีศร, ไกรศร ตาวงศ์, อุไรวรรณ นาสพัฒน์, กาญจนา ทองนะ, พสุ สกุลอารีวัฒนา, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, นิตยา คงสวัสดิ์, ขูศักดิ์ สัจจพงษ์ และประภาส แยบยน, ชนินทร ดวงสะอาด, พรพิมล อธิปัญญาคม, จรัญญา ปิ่นสุภา, สิริชัย สาธุวิจารณ์, ยิ่งนิยม ริยาพันธ์, พิพัฒน์ เซี่ยงหลิว, สุจิตรา พรหมเชื้อ, วัชรี ศรีรักษา, พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, วุฒิพล จันทร์สระคู, กลวัชร  ทิมินกุล, เวียง อากรชี, คุรุวรรณ์ ภามาตย์, พัชราพร หนูวิสัย, สุธีรา ถาวรรัตน์, จินตนาพร โคตรสมบัติ, สุรกิตติ ศรีกุล, อรพิน หนูทอง, จิตติลักษณ์ เหมะ, อาพร คงอิสโร และสมคิด ดำน้อย

          การผลิตปาล์มน้ำมันในปัจจุบัน เกษตรกรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันและต้นทุนการผลิตอย่างมาก การที่เกษตรกรจะได้รับผลผลิตสูงและลดต้นทุนการผลิตได้ เกษตรกรต้องใช้ปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี เลือกพื้นที่ให้เหมาะสมรวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่นั่นด้วย โดยเฉพาะการจัดการธาตุอาหารและน้ำ ซึ่งมีความส้าคัญอย่างมากต่อการผลิตปาล์มน้ำมัน รวมถึงการอารักขา การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมและเครื่องจักรกลเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรผลิตปาล์มน้ำมันได้อย่างยั่งยืน และได้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน ตลอดถึงอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในยุคที่มีการเปิดเสรีทางการค้าของกลุ่มประเทศในอาเชี่ยน

          การจัดการธาตุอาหารและน้ำในสวนปาล์มน้ำมัน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันโดยการจัดการธาตุอาหาร การจัดการธาตุอาหารตามผลวิเคราะห์ดินและใบของปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1 - 6 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี และศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี พบว่าปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเฉลี่ย 2.35 - 3.35 ตันต่อไร่ต่อปี สำหรับผลการจัดการธาตุอาหารระดับบริษัทพบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ  45.64 และเกษตรกรที่ปฏิบัติตามคำแนะนำสามารถรักษาผลผลิตให้คงที่ โดยมีผลผลิตกว่า 3.50 ตันต่อไร่ต่อปี ตามคุณสมบัติ ศักยภาพและข้อจำกัดของดิน การศึกษาการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมันกับพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตในภาคใต้ตอนบน โดยประเมินอัตราปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินใบร่วมกับปริมาณธาตุอาหารที่ควรชดเชยจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการสูญเสียธาตุอาหารจากขบวนการต่างๆ ในดิน ณ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ระหว่างปี 2554 - 2557 เปรียบเทียบกับการจัดการปุ๋ยตามที่เกษตรกรปฏิบัติพบว่า การเจริญเติบโตและผลผลิตไม่แตกต่างกัน และไม่กระทบต่อความสมบูรณ์ดิน แต่ลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมี 12 - 16 เปอร์เซ็นต์  ดัชนีผลตอบแทนการผลิตสูงกว่าวิธีของเกษตรกร การใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันพบว่า ต้นกลำปาล์มน้ำมัน การเจริญเติบโตไม่แตกต่างกันระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำและการใช้ปุ๋ยเคมี 50 เปอร์เซ็นต์ของคำแนะนำร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ ปาล์มน้ำมันปลูกใหม่ การเจริญเติบโตและผลผลิตไม่แตกต่างกันระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำและการใช้ปุ๋ยเคมี 50 เปอร์เซ็นต์ของคำแนะนำร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งทั้ง 2 ช่วงอายุช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมีลง 50 เปอร์เซ็นต์ ปาล์มน้ำมันอายุ 7 ปีขึ้นไป การเจริญเติบโตและผลผลิตไม่แตกต่างกันทางสถิติ ระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ การใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมี และการใช้ปุ๋ยชีวภาพอย่างเดียว ดังนั้นในปาล์มน้ำมันอายุมาก จึงควรใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ การใช้แหนแดงในสวนปาล์มน้ำมันปลูกใหม่พบว่า การใช้การใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ (ลดไนโตรเจนลง 25 เปอร์เซ็นต์) ร่วมกับแหนแดง ปริมาณธาตุอาหารในใบอยู่ในช่วงเหมาะสมและการเจริญเติบโตไม่แตกต่างกันทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ เทคนิคการให้ธาตุอาหารทางลำต้นปาล์มน้ำมันทดแทนการให้ปุ๋ยเคมีทางดินพบว่า การให้ธาตุอาหารทางลำต้นสามารถทดแทนการให้ปุ๋ยเคมีทางดินเฉพาะการเจริญเติบโต  ในขณะที่ผลผลิตกลับลดลงเมื่อเทียบกับ yield Profile สำหรับการให้น้ำร่วมกับปุ๋ยเคมีที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ผลผลิตและสรีรวิทยาของปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี พบว่าการให้น้ำมีผลทำให้การเจริญเติบโต ช่อดอกและผลผลิตสูงกว่าและแตกต่างทางสถิตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับปาล์มน้ำมันที่อาศัยน้ำฝน โดยปาล์มน้ำมันที่ได้รับน้ำ 0.8 และ 1.2 เท่าของค่าระเหยน้ำในช่วงแล้งให้ผลผลิต 3.75 - 4.29 ตันต่อไร่ต่อปี และปาล์มน้ำมันที่อาศัยเฉพาะน้ำฝนให้ผลผลิต 1.99 และ 3.13 ตันต่อไร่ต่อปี ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และไม่พบอิทธิพลของอัตราปุ๋ย สำหรับการตอบสนองทางสรีรวิทยาพบว่า การให้น้ำ 1.2 เท่าของค่าระเหยน้ำและปุ๋ย 125 เปอร์เซ็นต์ของอัตราแนะนำ ใบปาล์มน้ำมันมีปริมาณคลอโรฟิลล์รวมและศักยภาพในการสังเคราะห์แสงสูงกว่า จำนวนปากใบและประสิทธิภาพการใช้น้ำต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการอาศัยน้ำฝนและปุ๋ย 75 เปอร์เซ็นต์ของอัตราแนะนำ การจัดการน้ำปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย พบว่าการเจริญเติบโต ช่อดอกและอัตราส่วนเพศไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่การให้น้ำ 1.2 เท่าของค่าระเหยน้ำปาล์มน้ำมันอายุ 7 - 8 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.34 ตันต่อไร่ต่อปี สูงกว่าปาล์มน้ำมันที่อาศัยน้ำฝน 19.9 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในงานวิจัยด้านปาล์มน้ำมันจึงมี การศึกษาเทคนิคทางสถิติเพื่อใช้เป็นมาตรฐานสำหรับแปลงทดลองปาล์มน้ำมันพบว่า ขนาดแปลงมาตรฐานเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตอย่างน้อย 8 ต้นต่อแปลง  สำหรับผลผลิตอย่างน้อย 12 ต้นต่อแปลง และจากการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลดินในแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ดิน-น้ำ-พืช การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และพัฒนาเป็นคู่มือการจัดการดินในแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันต่อไปสามารถรวบรวมลักษณะและสมบัติของดินที่ปลูกปาล์มน้ำมันใน ภาคใต้ 13 บริเวณ ประกอบด้วยชุดดินท่าแซะที่มีจุดประ ชุดดินคอหงส์ที่มีจุดประ ชุดดินท่าแซะที่มีเบสสูง ชุดดินผักกาด ชุดดินคอหงส์ ชุดดินเขาขาด ชุดดินกระบี่ ชุดดินหลังสวน ชุดดินลำภูรา ชุดดินชุมพร ชุดดินบางสะพานและชุดดินท่าแซะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 บริเวณ เป็นชุดดินโพนงาม ชุดดินเลย ชุดดินลพบุรี ชุดดินลพบุรี (ที่มีเนื้อดินเป็นสีน้ำตาล) ชุดดินวาริน ชุดดินโคราช ชุดดินเพ็ญ ชุดดินน้ำพอง ชุดดินนครพนม และชุดดินโพนพิสัย ภาคกลางและตะวันออก 12 บริเวณ โดยภาคกลางเป็นชุดดินบางน้ำเปรี้ยว ชุดดินฉะเชิงเทรา ชุดดินองครักษ์ และชุดดินรังสิต ภาคตะวันออกเป็นชุดดินชะอำ ชุดดินคลองซากและชุดดินผักกาด ภาคเหนือ 8 บริเวณ เป็นชุดดินกำแพงเพชร ชุดดินสรรพยา ชุดดินลี  ชุดดินเรณู ชุดดินบางมูลนาก ชุดดินลำปาง ชุดดินอุตรดิตถ์ และภาคตะวันตก 4 บริเวณ เป็นชุดดินท่าม่วง ดินคล้ายชุดดินบางสะพาน ชุดดินหุบกะพง และชุดดินลาดหญ้า และจากการศึกษาสภาวะน้ำท่วมขังต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการของต้นปาล์มน้ำมัน โดยจำลองสภาวะน้ำท่วมขังนาน 120 วัน ให้กับปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 อายุ 8 12 18 และ 24 เดือน พบว่าปาล์มน้ำมันสามารถทนต่อสภาวะน้ำท่วมขังนาน 30 วัน โดยต้นปาล์มน้ำมันอายุ 24 เดือน มีค่าน้ำไหลปากใบ ศักย์ของน้ำในใบ จำนวนปากใบ การเจริญเติบโต น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของส่วนลำต้นและรากสูงกว่า และแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอายุ 8 12 และ 18 เดือน สำหรับการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของปาล์มน้ำมันที่ขาดการดูแลรักษาพบว่า การใส่ทะลายเปล่า 150 กิโลกรัมต่อต้นต่อปีร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ของการประเมินด้วยผลวิเคราะห์ใบ ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1 อายุ 10 - 12 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.78 ตันต่อไร่ต่อปี สูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีตามผลวิเคราะห์ใบ และการใช้ทะลายเปล่า 300 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี 13.2 และ 20.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านปุ๋ยเคมีได้

          การวิจัยด้านอารักขาปาล์มน้ำมัน การควบคุมโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมันโดยชีววิธี ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อเห็ด G. boninense พบว่าเชื้อราเอ็นโดไฟท์ ไอโซเลท KtB-4 จากกิ่งกระถินเทพามีประสิทธิภาพยับยั้งการเจริญของเชื้อเห็ด G. boninense ในห้องปฏิบัติการสูงสุด และเชื้อราเอ็นโดไฟท์ ไอโซเลท KtB-4 และ Trichoderma St-Te-5 มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญและควบคุมการเกิดโรคลำต้นเน่าของต้นกล้าปาล์มน้ำมันได้สูงสุด และจากการรวบรวมและจำแนกราวี-เอไมคอร์ไรซา 4 สกุล ได้แก่ Acaulospora 11 ไอโซเลท Gigaspora 2 ไอโซเลท Glomus 32 ไอโซเลทและ Scutellospora 11ไอโซเลท การทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนวัชพืชงอกพบว่า การใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นรอบโคนต้นปาล์มน้ำมัน ควรใช้สารในปาล์มน้ำมันอายุ 1 ปีขึ้นไป สารกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัยเมื่อเวลาพ่นแล้วไปถูกต้นปาล์มน้ำมันไม่แสดงอาการเป็นพิษและไม่กระทบต่อการเจริญเติบโต ได้แก่ atrazine อัตรา 300 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ pendimetaline อัตรา 264 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ และ acetochlor อัตรา 320 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี การทดสอบสารกำจัดชพืชประเภทหลังงอกต่อปาล์มน้ำมันพบว่า ในสภาพสวน paraquat dichloride, glufosinate ammonium, glyphosate และ fluroxypyr มีประสิทธิภาพควบคุมวัชพืชได้ดี โดย paraquat dichloride, glufosinate ammonium, glyphosate และ ametryn ควบคุมวัชพืชใบแคบ ใบกว้างและกกได้ดี haloxyfop-R-methyl, quizalofop-p-ethyl และ fenoxaprop-p-ethyl ควบคุมวัชพืชใบแคบได้ดีและ 2,4-D ควบคุมวัชพืชใบกว้างได้ดี

          วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อแปรรูปปาล์มน้ำมัน การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะสุกแก่และสภาพแวดล้อมต่อองค์ประกอบทะลายและคุณภาพน้ำมันปาล์มพบว่า ทะลายปาล์มน้ำมันอายุ 23 สัปดาห์หลังดอกบาน (WAA) ให้น้ำมันต่อทะลายเฉลี่ยสูงสุด 26.4 เปอร์เซ็นต์ และพบว่า น้ำมันต่อทะลายเฉลี่ยทุกช่วงอายุมีค่า 19.0 - 19.9 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำมันต่อทะลายมีค่าต่้ามากช่วงมีนาคม - เมษายน และสิงหาคม ซึ่งเป็นผลจากทะลายอายุ 18-21 WAA ในขณะที่ทะลายอายุ 22-23 WAA ไม่พบว่ามีค่าต่้าในช่วงดังกล่าว จากผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำมันปาล์มดิบพบว่า ปริมาณกรดไขมันอิสระ, ค่า DOBI,วิตามินเอ และเสถียรภาพต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น มีค่าเพิ่มขึ้นตามความสุกของทะลายปาล์ม สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมในรอบปีต่อปริมาณและคุณภาพน้ำมันปาล์มพบว่า ช่วงแล้งไม่มีผลต่ออัตราการสะสมน้ำมันต่อทะลายของทะลายปาล์มน้ำมันดิบ, กึ่งสุก และสุก และน้ำมันต่อทะลายเฉลี่ยในรอบปีของทะลายปาล์มสุกกึ่งสุกและดิบมีค่า 27.1, 25.6 และ 24.2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ คุณภาพน้ำมันปาล์มดิบพบว่า กรดไขมันอิสระมีค่าเพิ่มขึ้นตามความสุกของทะลายปาล์มน้ำมัน สำหรับค่า DOBI, ปริมาณวิตามินเอและเสถียรภาพต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นมีค่าใกล้เคียงกัน การวิจัยและพัฒนาชุดให้ความร้อนเพื่อลดกรดทะลายปาล์มน้ำมัน ชุดให้ความร้อนเชิงพาณิชย์ ห้องอบลมร้อนขนาดกว้าง 2.44x2.44x2 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อลมร้อนและท่อลมระบายทิ้ง 20 และ 15.24 เซนติเมตร ใช้พัดลมแบบไหลตามแกนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ปรับความเร็วลมและกระจายลมในห้องอบโดยใช้หัวพ่นแก๊ส ใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ควบคุมอุณหภูมิในห้องอบด้วยหัววัดอุณหภูมิและควบคุมการจ่ายแก๊สหุงต้มผ่านตู้ควบคุม การวิจัยและพัฒนาเครื่องปลิดผลปาล์ม สำหรับเป็นทางเลือกให้เกษตรกรลดค่าขนส่ง เพิ่มราคาจำหน่ายผลปาล์ม และสำหรับโรงงานสกัดน้ำมันขนาดเล็กที่ต้องการแยกผลปาล์มจากทะลาย โดยเครื่องต้นแบบประกอบด้วย ถังเหล็กทรงกระบอกหนา 3 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 75 เซนติเมตร ความสูง 120 เซนติเมตร ภายในถังมีซี่แยกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 มิลลิเมตรที่ปรับความยาวได้ติดโดยรอบ ฐานหมุนเป็นกรวยปากตัด หมุนขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3 แรงม้า 220 โวลต์ สลับทิศทางหมุนได้ ผลการทดสอบพบว่าความยาวซี่แยก 5 เซนติเมตร ความเร็ว 85 รอบต่อนาที ทำงานได้ 1.0 - 1.3 ตันต่อชั่วโมง  ประสิทธิภาพการแยกผลปาล์ม 90 - 93.5 เปอร์เซ็นต์  การวิจัยและพัฒนาเตาผลิตก๊าซโดยใช้กะลาปาล์มเป็นวัสดุเชื้อเพลิง ใช้หลักการแก๊สซิฟิเคชั่นและสร้างเตาแบบไหลลงด้านล่าง พบว่าปริมาณก๊าซที่ได้มีอัตราการไหลไม่คงที่ ถ่านกะลาปาล์มสุกไม่สม่้าเสมอ โดยต้องปรับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณแก๊สและถ่านขึ้นกับอัตราการป้อนกะลาปาล์มและระยะเวลาการกักเก็บในห้องเผาไหม้ซึ่งควบคุมได้โดยการดึงถ่าน/ขี้เถ้าออกด้านล่าง

          การทดสอบและขยายผลนวัตกรรมปาล์มน้ำมัน การทดสอบพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 ในแปลงเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ดำเนินการในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ ระหว่างปี 2556 - 2558 พบว่า สภาพพื้นที่ ดิน และภูมิอากาศส่วนใหญ่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมัน และปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 มีความยาวทางใบ หน้าตัดแกนทาง จำนวนใบย่อยและพื้นที่ใบมากกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ทดสอบการให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใบปาล์มน้ำมันของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ดำเนินการในแปลงปาล์มน้ำมันของกลุ่มเกษตรกร จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ วางแผนการทดลองแบบ RCB 2 ซ้ำ 2 กรรมวิธี คือ การให้ปุ๋ยตามวิธีการของเกษตรกร และการให้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรพบว่า ผลผลิตเฉลี่ยของกลุ่มเกษตรกร 2 พื้นที่ ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนการให้ปุ๋ยทั้ง 2 ปีของกลุ่มเกษตรกร 2 พื้นที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน


ไฟล์แนบ
.pdf   52_2558.pdf (ขนาด: 8.28 MB / ดาวน์โหลด: 3,763)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม