วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียว/ข้าวโพดเทียน
#1
วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียว/ข้าวโพดเทียน
กิตติภพ วายุภาพ, สุขุม ขวัญยืน, อนงค์นาฏ พรหมทะสาร, วรรษมน มงคล, ฉลอง เกิดศรี, ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล, สุภาพร สุขโต, พรอุมา เซ่งแซ่, จิราลักษณ์ ภูมิไธสง, เชาวนาถ พฤทธิเทพ, วนิดา โนบรรเทา, ศรีสุดา รื่นเจริญ, พัชรินทร์ นามวงษ์, ณัฐพงศ์ ศรีสมบัติ, มัตติกา ทองรส, พีชณิตดา ธารานุกูล, นงลักษณ์ จีนกูล, อนุชา เหลาเคน, สุชาติ แก้วกมลจิต, อัญชลี โพธิ์ตั้งธรรม, มัทนา วานิชย์, บรรเจิด พูลศิลป์, ชญาดา ดวงวิเชียร, พิกุลทอง สุอนงค์, สุดารัตน์  โชคแสน, สมบัติ บวรพรเมธี และธรรมรัตน์ ทองมี

          การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียว/ข้าวโพดเทียน ดำเนินการระหว่างปี 2554 - 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว/ข้าวโพดเทียน ให้มีผลผลิตสูง และมีคุณภาพการบริโภคดี 2. เพื่อสำรวจรวบรวม และอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ จำแนกและประเมินลักษณะคุณคําเชื้อพันธุ์ และจัดทำฐานข้อมูลข้าวโพดข้าวเหนียว 3. เพื่อพัฒนาชุดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ 4. เพื่อทดสอบชุดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

          จากผลงานวิจัยการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว/ข้าวโพดเทียน สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 84-1 ได้รับการพิจารณาจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 มีลักษณะเด่นให้ผลผลิตสูง โดยให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 1,731 กิโลกรัมต่อไร่ มีคุณภาพการบริโภคเหนียวนุ่ม และสามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม อายุเก็บเกี่ยว 60 - 62 วัน ขนาดฝัก (กว้าง x ยาว) 4.5 x 17.9 เซนติเมตร จำนวนแถว 12 - 14 แถว เมล็ดสีขาว มีอัตราประชากรที่เหมาะสมระหว่าง 8,533 - 10,667 ต้นต่อไร่ และอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่เหมาะสม 30 กิโลกรัมไนโตรเจนต่อไร่ การรวบรวม และอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว ได้ทำการบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ของเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดข้าวเหนียว และจัดทำเป็นฐานข้อมูล ได้จำนวน 45 พันธุ์

          การพัฒนาชุดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ในพื้นที่ดินเหนียว-ร่วนเหนียว ชุดดินดำเนินสะดวก และราชบุรี ได้ชุดเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ย อัตรา 20-2.5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ ในพื้นที่ดินร่วน-ร่วนปนทราย ในชุดดินกำแพงแสน ได้ชุดเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเคมีตามคําวิเคราะห์ดินในอัตรา อัตรา 20-7.5-8 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ และในชุดดินท่าม่วง การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินในอัตรา 20-8-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ สามารถให้ผลผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวได้ดี และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูง สำหรับการใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานในพื้นที่ดินเหนียว-ร่วนเหนียว ชุดดินดำเนินสะดวก และราชบุรี ได้ชุดเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยเคมี 20-10-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ ร่วมกับกากตะกอนอ้อย ในพื้นที่ดินร่วน-ร่วนปนทราย ชุดดินกำแพงแสน และท่าม่วง การใส่ปุ๋ยในอัตรา 30-5-5 กิโลกรัมต่อไร่ N-P2O5-K2O ต่อไร่ และ อัตรา 20-5-5 กิโลกรัมต่อไร่ N-P2O5-K2O ต่อไร่ ร่วมกับกากตะกอนอ้อย มีอัตราการให้ผลผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวสูงสุด

          การทดสอบชุดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ใน 10 จังหวัด ได้ชุดเทคโนโลยีด้านการใช้พันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 84-1 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพังงา และพันธุ์การค้า สวีทไวท์ 25 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในจังหวัดสุรินทร์ คือ การใช้ระยะปลูก 80 x 25 ซม. จำนวน 1 ต้นต่อหลุม จังหวัดมหาสารคาม คือ การใช้พันธุ์ชัยนาท 84-1 และใช้ธาตุอาหาร 17-7- 22 กก. N-P2O5- K2O /ไร่ จังหวัดศรีสะเกษ คือ ใช้พันธุ์ชัยนาท 84-1 และใช้ปุ๋ยเคมีตามคําวิเคราะห์ดินของกรมวิชาการเกษตร จังหวัดร้อยเอ็ด คือ การใช้ระยะปลูก 110 x 35 เซนติเมตร จำนวน 2 ต้นต่อหลุม และใส่ปุ๋ยตามคําวิเคราะห์ดินในพันธุ์พื้นบ้าน (พันธุ์ซ่อยร่อย) จังหวัดนครราชสีมา คือ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยการใช้ปุ๋ยสูตร 16-8-8 หรือ 15-15-15 ร่วมใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอำนาจเจริญ คือ การใส่ปุ๋ยเคมีตามคําวิเคราะห์ดิน ชุดเทคโนโลยีที่ใช้ในแต่ละพื้นที่สามารถเพิ่มผลิตเฉลี่ย สามารถให้ผลตอบแทน และค่าตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (BCR) สูงกว่าวิธีทดสอบของเกษตรกร จากผลของงานวิจัย การใช้พันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร การใช้พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ร่วมกับการใช้ชุดเทคโนโลยีที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวสำหรับเกษตรกรให้มีปริมาณ และคุณภาพเหมาะสมสำหรับผู้บริโภค


ไฟล์แนบ
.pdf   57_2558.pdf (ขนาด: 777.95 KB / ดาวน์โหลด: 5,784)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม