โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วลิสง
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วลิสง
สมศักดิ์ อิทธิพงษ์, วรยุทธ   ศิริชุมพันธ์, สมจินตนา ทุมแสน, เพียงเพ็ญ ศรวัต, อัมราวรรณ ทิพยวัฒน์, กมลวรรณ เรียบร้อย, ทักษิณา ศันสยะวิชัย, ศรีสุดา ทิพยรักษ์, มัทนา วานิชย์, อรอนงค์ วรรณวงษ์, สมใจ โค้วสุรัตน์, นภาพร คำนวณทิพย์, ชูชาติ บุญศักดิ์, วสันต์ วรรณจักร, สุทธินันท์ ประพาธน์สุวรรณ, อัญชลี ชาวนา, สุทธิดา บูชารัมย์, นงลักษ์ ปั้นลาย, อิสระ พุทธสิมมา, กาญจนา กิระศักดิ์, กอบเกียรติ ไพศาลเจริญ, ภาคภูมิ ถิ่นคำ, จงรักษ์ พันธ์ไชยศรี, โสพิศ ใจปาละ, วิภาวรรณ กิติวัชระเจริญ, ฉันทนา คงนคร, พรอุมา เซ่งแซ่, นิลุบล ทวีกุล, อมรา ชินภูติ, ศิริลักษณ์ พุทธวงค์,  มงคล ตุ่นเฮ้า, กลวัชร ทิมินกุล และวุฒิพล จันสระคู

          เนื่องจากถั่วลิสงเป็นพืชที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการการบริโภค และประสบปัญหา ผลผลิตและคุณภาพต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นจึงได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วลิสง เพื่อแก้ปัญหา โดยมีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงฝักต้มและถั่วลิสงเมล็ดปานกลาง ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์รับรองเดิม และพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและทนทานโรคยอดไหม้ รวมทั้งข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ 2) เพื่อจำแนกลักษณะและประเมินคุณค่าเชื้อพันธุกรรมถั่วลิสง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์พืช 3) เพื่อสร้างและพัฒนาระบบฐานข้อมูลการจัดการผลิตถั่วลิสง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของถั่วลิสง 4) เพื่อเพิ่มคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ลดปัญหาสารพิษอะฟลาทอกซิน เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานในการผลิต และเพิ่มมูลค่าของถั่วลิสงโดยใช้ใบและต้นหมักเป็นอาหารสัตว์ โดยดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรม ระหว่างปี 2554 - 2558 ผลการทดลองพบ 1) สายพันธุ์ดีเด่นขนาดเมล็ดปานกลางที่ให้ผลผลิตสูง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ KK97-44-106 KK4915-2 KK4918-3 และ KK4920-15 สายพันธุ์ถั่วลิสงฝักสดต้มดีเด่น คือ สายพันธุ์ KKFCRC49-02-2-1 และ KKFCRC49-06-7-1 2) สายพันธุ์ถั่วลิสงฝักสดต้ม 44 สายพันธุ์ และถั่วลิสงขนาดเมล็ดปานกลาง 40 สายพันธุ์ ที่ทนทานต่อโรคยอดไหม้ 3) ข้อมูลจำเพาะของสายพันธุ์ดีเด่น คือ 3.1) ได้ค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมของถั่วลิสง 10 สายพันธุ์ ใช้ในแบบจำลอง CSM-CROPGRO-Peanut 3.2) การใส่แคลเซียมและปุ๋ยเคมีไม่มีผลต่อผลผลิตของสายพันธุ์ขนาดเมล็ดปานกลาง KK 97-44-106 และ KK 43-46-1 แต่มีผลกับถั่วลิสงฝักต้มสายพันธุ์ KKFC49-02-8-3 3.3) อัตราประชากรที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ KK94-4-106 KK43-46-1 และถั่วลิสงฝักต้มสายพันธุ์ KKFCRC4906-7-1 และ KKFCRC4902-8-3 คือ 48,000 - 64,000 ต้นต่อไร่ 32,000 - 48,000 ต้นต่อไร่ 16,000 ต้นต่อไร่ และ 16,000 ต้นต่อไร่ ตามลำดับ โดยมีอายุเก็บเกี่ยวแตกต่างกันในฤดูแล้งและฝน 3.4) การศึกษาปฏิกิริยาของสายพันธุ์ถั่วลิสงต่อโรคยอดไหม้พบว่า มี 10 สายพันธุ์ เป็นโรคยอดไหม้ในธรรมชาติต่ำกว่าและแตกต่างจากพันธุ์ตรวจสอบ แต่ไม่พบความแตกต่างกับนโรคโคนเน่า ส่วนกับโรคทางใบที่อายุ 45 วัน ยังไม่พบอาการของโรคราสนิม อาจเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการเกิดโรค 4) ข้อมูลลักษณะสัณฐานวิทยา ลักษณะทางเกษตรของเชื้อพันธุกรรมถั่วลิสงประมาณ 300 สายพันธุ์ 5) ได้แผนที่และฐานข้อมูลการผลิตถั่วลิสงจังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิต ถั่วลิสง 6) การให้น้ำหยดในฤดูแล้งไม่เกิน 350 มิลลิเมตรตลอดฤดูปลูก ให้ผลผลิตสูงสุดในทุกพันธุ์ และพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการให้น้ำกับผลผลิต ส่วนในฤดูฝนควรให้น้ำรวมไม่เกิน 135 มิลลิเมตร แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการให้น้ำกับผลผลิต 7) การพ่นด้วยสาร fipronil 5%SC เมื่ออายุ 7 วันหลังงอก จะช่วยควบคุมเพลี้ยไฟ และการระบาดของโรคยอดไหม้ถั่วลิสง และการใช้สาร cholorpyrifos (Pyrinex 5 G) 5%G 2 ครั้ง คือ พร้อมปลูก และอายุ 30 - 35 วัน สามารถลดการทำลายของปลวก และการคลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสาร iprodione สามารถลดการทำลายโรคโคนเน่าขาว 8) การปลูกถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2 ในเขตชลประทานของจังหวัดเชียงใหม่ในฤดูแล้งช่วงต้นถึงกลางเดือนเมษายน ให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนสูง ส่วนการปลูกในปลายฤดูฝนช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ให้ผลผลิตและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนสูงสุด สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ แนะนำให้เกษตรกรใช้สายพันธุ์ KK 49-20-15 ปลูกเพื่อผลิตเป็นถั่วฝักสด เพราะให้ผลผลิตและรสชาติในการบริโภคสูง และการใช้ฟอสโฟยิปซั่ม และยิปซั่ม เป็นแหล่งแคลเซียมมีผลทำให้ผลผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่าปูนขาว 9) การแช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกช่วยเร่งเฉพาะความเร็วในการงอก หรือทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกเพิ่มขึ้นในเมล็ดที่มีคุณภาพสูงหรือเมื่อเผชิญสภาวะที่จำกัดการงอก แต่เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพต่ำ การแช่เมล็ดพันธุ์อาจเป็นผลเสียต่อการงอก ส่วนการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 84-7 ขอนแก่น 84-8 และสายพันธุ์ KK97-44-106 สามารถเก็บเกี่ยวทำเมล็ดพันธุ์ได้ตั้งแต่ระยะ R7 โดยที่เมล็ดพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง 10) พบวิธีการหมักต้นถั่วลิสงเป็นอาหารสัตว์ที่สามารถเก็บรักษาได้ 2 - 5 เดือน การคลุกเมล็ดด้วยน้ำคั้นกระเทียมเจือจาง 1:1 มีศักยภาพในการควบคุมสารอะฟลาทอกซินและเชื้อราสาเหตุมากที่สุด แต่ผลในการควบคุมยังล่าช้าและมีความแปรปรวนสูง จึงควรทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อนแนะนำเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป 11) เครื่องปลิดฝักถั่วลิสงแบบใช้เครื่องยนต์ มีความเหมาะกับเกษตรกรที่ต้องใช้ฝักไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นต้นทุนการปลิด 1.80 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับใช้แรงงานคน 2.5 - 3.0 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเครื่องหั่นย่อยต้นถั่วลิสงสำหรับทำปุ๋ยหมักและอาหารสัตว์ในระดับเกษตรกร สามารถหั่นย่อยต้นถั่วลิสงในอัตรา 515 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สำหรับเครื่องอบแห้งแบบกระบะสลับทิศทางลมร้อนสำหรับการลดความชื้นฝักถั่วลิสง สามารถลดความชื้นฝักถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 จากความชื้น 25.9 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 6.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหมาะสำหรับการอบฝักถั่วลิสงในช่วงฤดูฝน เพื่อลดความเสียหายของฝักจากเชื้อราที่สร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน

          จากผลการทดลองดังกล่าว สามารถนำสายพันธุ์ดีเด่นไปประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ หรือใช้ประโยชน์ในงานปรับปรุงพันธุ์พันธุ์ต่อไป ส่วนงานวิจัยและพัฒนาด้านอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นคำแนะนำ เผยแพร่ หรือวิจัยและพัฒนาต่อยอดต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   63_2558.pdf (ขนาด: 1.3 MB / ดาวน์โหลด: 2,328)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม