การวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ฝ้ายพร้อมเทคโนโลยีที่เหมาะสม
#1
การวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ฝ้ายพร้อมเทคโนโลยีที่เหมาะสม
ปริญญา สีบุญเรือง, อมรา ไตรศิริ, ศิวิไล ลาภบรรจบ, ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, ดาวรุ่ง คงเทียน, พรพรรณ สุทธิแย้ม, ปัทมพร วาสนาเจริญ, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, ปรีชา แสงโสดา, วิภารัตน์ ดำริเข้มตระกูล, นิมิตร วงศ์สุวรรณ, แคทลิยา เอกอุ่น, สมใจ โควสุรัตน์, จุฑามาศ ศรีสำราญ, พิกุล ซุนพุ่ม, อรทัย วรสุทธิ์พิศาล, สุพจน์ กิตติบุญมา, รัมม์พัน โกศลานันท์, พรรณพิมล สุริยะพรหมชัย และกัลยา เกาะกากลาง
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี, ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง, สถาบันวิจัยพืชไร่, สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลการเกษตร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 1 และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 3  

          โครงการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ฝ้ายพร้อมเทคโนโลยีที่เหมาะสมของกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ได้พันธุ์ฝ้ายเส้นใยสี พร้อมเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และวิธีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว โดยดำเนินการผสมพันธุ์ฝ้ายที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ในปี 2543 ใช้ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพเส้นใยดี และต้านทานโรคใบหงิก เป็นพันธุ์แม่ ไปผสมข้ามกับพันธุ์พ่อ Green Cotton ที่มีเส้นใยสั้นสีเขียว และอ่อนแอต่อโรคใบหงิก แล้วทำการผสมกลับไปยังตากฟ้า 2 จำนวน 4 ชั่วรุ่น ระหว่างปี 2544 - 2545 จากนั้นคัดเลือก BC4F1-BC4F5 ในระหว่างปี 2546 - 2550 จนได้สายพันธุ์ที่มีความสม่ำเสมอดี 20 สายพันธุ์ แล้วจึงประเมินผลผลิตและลักษณะต่างๆ ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรในระหว่าง ปี 2551 - 2554 จนกระทั่งสามารถคัดเลือกได้ฝ้ายพันธุ์ใหม่ตากฟ้า 86-5 ซึ่งเป็นฝ้ายพันธุ์แรกของประเทศไทยที่มีเส้นใยสีเขียว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่กลับมานิยมใช้เส้นใยฝ้ายสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีความต้านทานโรคใบหงิก ให้ผลผลิตปุยทั้งเมล็ดเฉลี่ย 192 กิโลกรัมต่อไร่ มีคุณภาพเส้นใยที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นใยมีความยาวถึง 1.25 นิ้ว ความเหนียว 21.50 กรัมต่อเท็กซ์ ความสม่ำเสมอ 57 เปอร์เซ็นต์ และความละเอียดอ่อนที่ดีมากคือ 2.6 สามารถปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทย โดยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต แนะนำให้ใช้อัตราประชากร 2,650 ต้นต่อไร่ หรือ ใช้ระยะปลูก 1.25 x 0.50 เมตร ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 8-16-8 กิโลกรัมต่อไร่ของ N-P2O5-K2O ซึ่งเหมาะสมและให้กำไรสูงสุดในชุดดินวังไฮ และพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้าย เมื่อฝ้ายอายุ 50 - 100 วัน หรือเมื่อมีปริมาณเพลี้ยจักจั่นฝ้ายถึงระดับเศรษฐกิจ และอายุเก็บเกี่ยวของฝ้ายพันธุ์นี้ ประมาณ 110 - 135 วัน แนะนำให้เก็บเกี่ยวทุก 5 และ 10 วันหลังจากสมอเริ่มแตก เพื่อให้ได้เส้นใยที่มีสีเขียวเข้มที่สุด สำหรับเทคโนโลยีการผลิตฝ้ายอินทรีย์ ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่เพิ่มมูลค่าของผลผลิตฝ้าย เนื่องจากลดการใช้สารเคมี สร้างผลผลิตและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากสารเคมีปนเปื้อนในการผลิตฝ้าย แนะนำให้ใช้ปุ๋ยจากปอเทืองอย่างเดียว หรือใช้ปอเทืองร่วมกับปุ๋ยหมักเศษถั่วเหลือง 3 ตัน/ไร่ โดยไถกลบปอเทือง (อายุ 2 เดือน) ก่อนปลูกฝ้าย 30 วัน ระยะปลูก คือ 1.75 x 0.50 เมตร พ่นน้ำหมักจากผลไม้ ควบคู่กับน้ำหมักสมุนไพร อัตราส่วนต่อน้ำ 1: 200 พ่นทุกสัปดาห์ตั้งแต่อายุ 7 - 100 วันหลังงอก ส่วนวิธีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว แนะนำให้เก็บรักษาผลผลิตปุยฝ้ายในสภาพความชื้นสัมพัทธ์ 60 - 75 เปอร์เซ็นต์ ในถุงดำหรือในสถานที่มืดซึ่งจะสามารถถนอมรักษาสีของเส้นใย ให้คงมีสีเขียวสดใสกว่าการเก็บรักษาไว้ในที่มีแสงสว่าง ก่อนนำผลผลิตปุยสีเขียวที่มีคุณภาพเส้นใยดีไปเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายขนาดเล็กเบอร์ 20 ที่มีราคาสูง รวมทั้งการนำไปผลิตเป็นสิ่งทอ เนื่องจากเส้นด้ายที่มีขนาดที่เล็กหรือละเอียดมาก จะสามารถทอเป็นผืนผ้าที่มีมูลค่าสูงกว่าเส้นด้ายที่หยาบกว่า หลังการนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นเส้นด้ายหรือสิ่งทอ แนะนำให้ต้มใน 5% น้ำปูนใสหรือ 5% น้ำขี้เถ้า นาน 30 นาที และเก็บไว้ในถุงซิบล็อกในที่มืด จะสามารถถนอมและรักษาสีของเส้นด้ายและผืนผ้าให้คงมีสีเขียวสดใส


ไฟล์แนบ
.pdf   68_2558.pdf (ขนาด: 1.64 MB / ดาวน์โหลด: 2,052)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม