วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไพลอย่างยั่งยืน
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไพลอย่างยั่งยืน
สัจจะ ประสงค์ทรัพย์, พฤกษ์ คงสวัสดิ์, สุธามาศ ณ น่าน, อภิรดี กอร์บไพบูลย์ และแสงมณี ชิงดวง
สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

          ศึกษาการป้องกันกำจัดโรคหัวเน่าของไพลที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในสภาพแปลงปลูก ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร วางแผนการทดลองแบบ Randomized complete block design (RCBD) 4 ซ้ำ มี 5 กรรมวิธี คือ 1. ผักชิงฉ่าย อัตรา 3.2 ตันต่อไร่ (24 กิโลกรัมต่อแปลงย่อย) ไถกลบก่อนปลูก 2 สัปดาห์ 2. ผักคราดหัวแหวน อัตรา 30 กิโลกรัมต่อแปลงย่อย ไถกลบก่อนปลูก 2 สัปดาห์ 3. น้ำหมักชีวภาพ (สูตรกุ้ง หอย) อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นประจำทุกเดือน 4.ไคโตซาน 1% อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นประจำทุกเดือน 5. ไม่ใส่กรรมวิธี พบว่ากรรมวิธีใช้สารชีวภาพอัตรา 60 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุกๆ เดือน มีการเกิดโรคน้อยและให้ผลผลิตสูงสุด ไพลมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคหัวเน่า คือ 6.25 เปอร์เซ็นต์ และให้ผลผลิตไพล 1,553 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

          การศึกษาผลผลิตของไพลที่ได้จากหัวพันธุ์รุ่น G1 และ G2 เปรียบเทียบกับหัวพันธุ์ที่ได้จากแปลงปกติ ไพล (Phlai : Zingiber cassumnar) มี 8 กรรมวิธี ได้แก่ 1. ปลูกด้วยต้นไพลรุ่น G0 และเก็บเกี่ยวที่อายุ 2 ปี 2. ปลูกด้วยหัวพันธุ์ไพลรุ่น G0 และเก็บเกี่ยวที่อายุ 2 ปี 3. ปลูกด้วยหัวพันธุ์ไพลรุ่น G1 และเก็บเกี่ยวที่อายุ 2 ปี 4. ปลูกด้วยต้นไพลรุ่น G0 และเก็บเกี่ยวที่อายุ 1 ปี 5. ปลูกด้วยต้นไพลรุ่น G0 และเก็บเกี่ยวที่อายุ 1 ปี 6. ปลูกด้วยหัวพันธุ์ไพลจากแปลงและเก็บเกี่ยวที่อายุ 1 ปี 7. ปลูกด้วยหัวพันธุ์ไพลจากแปลงและเก็บเกี่ยวที่อายุ 2 ปี (กรรมวิธีเกษตรกร) และ 8. ปลูกด้วยหัวไพลรุ่น G1 และเก็บเกี่ยวที่อายุ 1 ปี ทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ พบว่าชนิดของต้นไพลและหัวพันธุ์ไพลที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีผลต่อขนาดต้น และผลผลิตไพลเมื่อปลูกในสภาพแปลง การปลูกด้วยหัวไพลรุ่น G1 และเก็บเกี่ยวที่อายุ 2 ปี มีขนาดหัวไพลเฉลี่ยใหญ่ที่สุด (910 กรัม) มากกว่าการปลูกด้วยหัวพันธุ์ในแปลงเก็บเกี่ยวที่อายุ 2 ปี (control) (322.0 กรัม) หรือมากกว่าถึงร้อยละ 35.4 แต่ ต้นไพลรุ่น G0 และหัวไพลรุ่น G0 มีผลผลิตต่ำมาก (20 - 30 กรัม และ 3 - 7 กรัม ตามลำดับ)

          การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคเหี่ยวของไพลเก็บตัวอย่างดิน ปุ๋ยคอก และรากพืช เพื่อหาเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์จากแหล่งปลูก จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และพะเยา สามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ได้ 323 ไอโซเลท จำแนกได้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus จำนวน 182 ไอโซเลท นำไปทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Ralstonia solanacearum (RS) สาเหตุโรคเหี่ยวของไพลในห้องปฏิบัติการ โดยวิธี Paper disc diffusion method พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์จำนวน 3 ไอโซเลท สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ RS คือ CMS 1-2, LPS 3-2 และ LPR 1-5 ทดสอบความสามารถในการควบคุมโรคในเรือนทดลอง ปรากฏว่าการใช้แบคทีเรียบาซิลลัส สามารถควบคุมการเกิดโรคเหี่ยวของไพลได้เกือบทุกกรรมวิธี ยกเว้น ไอโซเลท CMS 1-2 และไอโซเลท LPS 3-2 + LPR 1-5 ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีควบคุม (+เชื้อโรคเหี่ยว) โดยแบคทีเรีย Bacillus ไอโซเลทดินรากยาสูบ # 4 สามารถควบคุมโรคได้ดีที่สุด รองลงมา ได้แก่ ไอโซเลท CMS 1-2 + LPS 3-2 ส่วนการทดสอบความสามารถควบคุมโรคในแปลงทดลองหลังจากปลูกไพลนาน 5 เดือน พบว่าเชื้อแบคทีเรีย Bacillus ทุกกรรมวิธีไม่สามารถควบคุมการเกิดโรคเหี่ยวของไพลได้ พบไพลในแปลงทดลองเกิดโรคเหี่ยวตายทุกกรรมวิธี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคเหี่ยว

          การศึกษาการควบคุมโรคเหี่ยวของไพลที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum โดยผสมผสานวิธีการเขตกรรมร่วมกับใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์บาซิลลัส ดำเนินการในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 เขตกรรม, กรรมวิธีที่ 2 เขตกรรม + บาซิลลัส LPR 1-5, กรรมวิธีที่ 3 เขตกรรม + บาซิลลัส CMS 1-2 + LPS 3-2, กรรมวิธีที่ 4 เขตกรรม + บาซิลลัสดินรากยาสูบ #4 และกรรมวิธีที่ 5 ไม่มีการเขตกรรมและไม่ใช้บาซิลลัส (control) ประเมินผลการควบคุมโรคเหี่ยวแต่ละกรรมวิธี โดยตรวจนับจำนวนต้นเป็นโรค และคำนวณหาเปอร์เซ็นต์การเกิดโรค พบว่ากรรมวิธีที่ 4 ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีกว่ากรรมวิธีอื่น ซึ่งพบโรคเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียง 22.5 และ 13.5% ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   102_2558.pdf (ขนาด: 4.09 MB / ดาวน์โหลด: 3,824)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม