การเปรียบเทียบการปนเปื้อนโลหะหนักในผลผลิตหัวสด และมันเส้นของมันสำปะหลังพันธุ์ต่างๆ
#1
การเปรียบเทียบการปนเปื้อนโลหะหนักในผลผลิตหัวสด และมันเส้นของมันสำปะหลังพันธุ์ต่างๆ
เมธาพร พุฒขาว,  กัญญรัตน์ จำปาทอง, อรทัย วรสุทธิ์พิศาล, พีรชา  มณีชาติ, อมรรัชฎ์ คิดใจเดียว, กฤชพร ศรีสังข์, สมชาย บุญประดับ, ธำรง ช่วยเจริญ, กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช, ขวัญตา มีกลิ่น, เพราพิลาส ขวาสระแก้ว, ศราริน กลิ่นโพธิ์กลับ, วนิดา โนบรรเทา, สุรสิทธิ์ อรรถจารุสิทธิ์, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์ และสรรเสริญ  เสียงใส
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น

          การปนเปื้อนของโลหะหนักในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นปัญหาที่ประเทศคู่ค้าอาจใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าในอนาคตได้ โดยโลหะหนักสามารถปนเปื้อนเข้าไปในตัวพืชได้จากการดูดซึมของตัวพืชเอง ดังนั้นการเปรียบเทียบการปนเปื้อนโลหะหนักในผลผลิตหัวสดและมันเส้นของมันสำปะหลังพันธุ์ต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดูดซับโลหะหนักของพันธุ์มันสำปะหลังแต่ละพันธุ์ในหัวมันสดและผลิตภัณฑ์มันเส้น ศึกษา 2 พื้นที่ คือ พื้นที่แปลงเกษตรจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดกำแพงเพชร ผลการทดลองพบว่า ปริมาณโลหะหนักประเภทสารหนู (As) และแคดเมียม (Cd) จากการวิเคราะห์มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนด โลหะหนักที่มีค่าเกินมาตรฐานคือ สารตะกั่ว (Pb) ซึ่งมาตรฐานที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนด คือ ในดินไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในพืชไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 มีปริมาณสารตะกั่ว (Pb) ในหัวมันสดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาจเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีแป้งค่อนข้างต่ำ จึงทำให้มีปริมาณน้ำในหัวสดมาก แต่เมื่อทำให้แห้งเป็นมันเส้น พบปริมาณสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน ส่วนปริมาณสารตะกั่ว (Pb) ในมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 เมื่อปลูกในแปลงที่มีปริมาณอินทรียวัตถุในดินค่อนข้างสูง และความเป็นกรด - ด่างของดินอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลัง มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งในหัวมันสดและมันเส้น ส่วนปีที่ 2 เมื่อปลูกมันสำปะหลังในดินที่มีอินทรียวัตถุค่อนข้างต่ำ แต่มีความเป็นกรด - ด่างดิน (pH) อยู่ระดับ 5.8 - 6.1 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 มีปริมาณสารตะกั่ว (Pb) ในหัวมันสดและมันเส้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนด ดังนั้นแนวทางป้องกันการปนเปื้อนธาตุโลหะในมันสำปะหลังทำได้โดยการปรับปฏิกิริยาดินให้มีความเป็นกรดน้อยลงและเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน 


ไฟล์แนบ
.pdf   44_2557.pdf (ขนาด: 385.44 KB / ดาวน์โหลด: 1,706)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม