ทดสอบการใช้ปุ๋ยเคมีตามลักษณะเนื้อดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจังหวัดนครสวรรค์
#1
ทดสอบการใช้ปุ๋ยเคมีตามลักษณะเนื้อดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจังหวัดนครสวรรค์
สุจิตร ใจจิตร, วีระพงษ์ เย็นอ่วม, ยอด กันยาประสิทธิ์ และมลทิราลัย สวนเรือง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์

          การทดสอบเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเคมีตามลักษณะเนื้อดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง  ได้ดำเนินการทดสอบในแปลงของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอไพศาลี  จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 5 ราย รายละ 4 ไร่ กรรมวิธีที่ใช้ทดสอบมี 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบเป็นการใส่ปุ๋ยเคมีตามลักษณะเนื้อดิน ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับการผลิตมันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่วิธีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมและเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง

          ผลการทดสอบพบว่า การจัดการปุ๋ยเคมีในแบบที่ต่างกัน ส่งผลให้ ผลผลิต เปอร์เซ็นแป้ง และผลผลิตแป้งต่อไร่ของมันสำปะหลังเฉลี่ยทั้ง 3 ปี  มีความแตกต่างกันยิ่งทางสถิติ  โดยพบว่า การใส่ปุ๋ยเคมีตามกรรมวิธีทดสอบมีผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 4,459 กิโลกรัมต่อไร่  มากกว่าการใส่ปุ๋ยในกรรมวิธีเกษตรกรที่ได้ผลผลิตเท่ากับ 3,321 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 34  นอกจากนี้ยังพบว่ากรรมวิธีทดสอบมีผลผลิตมันสำปะหลังที่มีเปอร์เซ็นแป้งเฉลี่ยเท่ากับ 25%  มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกรมีเปอร์เซ็นแป้งเฉลี่ยเท่ากับ 24% ส่งผลให้ผลผลิตแป้งต่อไร่เฉลี่ยของกรรมวิธีทดสอบ มีปริมาณแป้งมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 327 กิโลกรัมต่อไร่  คิดเป็น 40%

          ข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์เฉลี่ย 3 ปี  พบว่าการจัดการปุ๋ยเคมีที่แตกต่างกันแต่ละกรรมวิธีทำให้เกษตรกรมีรายได้  และต้นทุนผันแปร  มีความแตกต่างกันยิ่งทางสถิติ  คือ การใส่ปุ๋ยเคมีตามกรรมวิธีทดสอบมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 9,528 บาทต่อไร่  มากกว่าการใส่ปุ๋ยในกรรมวิธีเกษตรกรที่มีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 7,103 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 32  แต่กรรมวิธีทดสอบมีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยเท่ากับ 4,165 บาทต่อไร่  สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรที่มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยเท่ากับ 3,058 บาทต่อไร่  คิดเป็น 36%  ส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิมีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยกรรมวิธีทดสอบมีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยเท่ากับ 5,356 บาทต่อไร่  สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรที่มีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยเท่ากับ 4,046 บาทต่อไร่  เมื่อพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่าย (BCR) พบว่า กรรมวิธีทดสอบและกรรมวิธีเกษตรกรมีค่า BCR เท่ากัน คือ 2.3  แสดงว่า   วิธีการใส่ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดินตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรตามกรรมวิธีทดสอบและการใส่ปุ๋ยของเกษตรกรที่ใช้ปฏิบัติอยู่ตามกรรมวิธีเกษตร  สามารถนำมาใช้ในการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรได้  


ไฟล์แนบ
.pdf   51_2557.pdf (ขนาด: 227.92 KB / ดาวน์โหลด: 520)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม