สำรวจและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดเลย
#1
สำรวจและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดเลย
สุขุม ขวัญยืน, ปรีชา แสงโสดา และอนงค์นาฏ ชมพูแก้ว
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย

          การสำรวจและสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในแหล่งปลูกสำคัญของจังหวัดเลย ในปี 2557 เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกร จำนวน 100 แปลง แปลงปลูกอยู่ในเขต อำเภอเชียงคาน 40 แปลง เมือง 22 แปลง ท่าลี่ 15 แปลงและอำเภออื่นๆ เป็นปาล์มน้ำมันระยะก่อนให้ผลผลิต ร้อยละ 56  สภาพพื้นที่เป็นที่ลาด-เทภูเขา ร้อยละ 54 ที่ราบ - ลุ่มร้อยละ  36 และอื่นๆ ลักษณะดิน เป็นดินร่วนปนทรายร้อยละ 40 ดินเหนียวปนทรายร้อยละ 28 อื่นๆ ร้อยละ 32 เหตุผลในการปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกร เพราะเห็นว่าจะเป็นพืชใหม่ที่มีอนาคต โดยพื้นที่เดิมส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล ที่นา และเป็นที่ว่างเปล่า จำนวน 45 22 19 และ 18 แปลง ตามลำดับ มีพื้นที่ปลูกรายละ 5 - 9 ไร่ ร้อยละ 53 ที่เหลือพื้นที่มากกว่า 10 ไร่ เกษตรกรจังหวัดเลยปลูกพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรร้อยละ 63 โดยเฉพาะสุราษฎร์ธานี 2 (56 แปลง) ลูกผสมเทเนอราอื่นๆ  ร้อยละ 29 สำหรับการปลูกและการจัดการพบว่า เกษตรกรปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรมากที่สุด คือ ใช้ระยะปลูก 9 x 9 x 9 เมตร ร้อยละ 54 แต่ไม่มีการระบายน้ำภายในแปลง ก่อนปลูกมีการไถเตรียมดินก่อนปลูก  1 - 2 ครั้ง และมีการรองก้นหลุมก่อนปลูกร้อยละ 78 รองด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก 43 แปลง การจัดการสวนปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิตพบว่า เกษตรกรไม่ปลูกพืชแซม ร้อยละ 56 ไม่มีการให้น้ำปลูกโดยอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวร้อยละ 61  มีการใส่ปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ เช่น 15-15-15  46-0-0  0-0-60 ร้อยละ 75 และใส่ร่วมกับปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และ ปุ๋ยชีวภาพ มีจำนวน 23 6 และ 3 แปลง การกำจัดวัชพืช พบว่า นิยมใช้เครื่องตัดหญ้ามากกว่าการใช้สารเคมี ส่วนการจัดการสวนปาล์มน้ำมันหลังให้ผลผลิตพบว่า มีการจัดการที่ใกล้เคียงกันกับแปลงปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิต แต่แตกต่างเรื่องการให้น้ำ โดยระยะให้ผลผลิตนี้เกษตรกรเริ่มมีการให้น้ำในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น จำนวน 32 แปลง การใส่ปุ๋ยเคมี พบว่ามีแปลงที่ใส่ตามคำแนะนำน้อยมากเพียง 3 แปลง ส่วนแปลงอื่นๆใส่ปุ๋ยเคมีที่หลากหลายกันในเกษตรกรแต่ละราย เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 13,900 บาท โดยเป็นค่าระบบน้ำ 5,000 บาท ค่าเตรียมพื้นที่ 2,000 บาท ค่าปุ๋ย 2,000 บาท เป็นต้น ผลผลิตทะลายปาล์มสูงสุดไร่ละ 3 ตัน ส่วนราคาที่เกษตรกรเคยขายได้สูงสุดกิโลกรัมละ 4.6 บาท สำหรับปัญหาในการผลิตที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ เรื่องโรคและแมลง และการขาดธาตุอาหาร


ไฟล์แนบ
.pdf   61_2557.pdf (ขนาด: 180.25 KB / ดาวน์โหลด: 541)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม