การพัฒนาการผลิตถั่วงอกจากถั่วเขียวผิวดำและผิวมันสายพันธุ์ดีเด่นเพิ่มคุณค่าทางโภชนา
#1
การพัฒนาการผลิตถั่วงอกจากถั่วเขียวผิวดำและผิวมันสายพันธุ์ดีเด่นเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
อารดา มาสริ, สุมนา งามผ่องใส, เชาวนาถ พฤทธิเทพ, ชูชาติ บุญศักดิ์, ปวีณา ไชยวรรณ์ และวรรษมน มงคล
ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท

          การพัฒนาการผลิตถั่วงอกจากถั่วเขียวผิวดำ และผิวมันสายพันธุ์ดีเด่นเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อศึกษาวิธีการเพาะถั่วงอกและคุณค่าทางโภชนาการของถั่วเขียวผิวดำ และผิวมัน จำนวน 6 พันธุ์/สายพันธุ์ ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ระหว่างปี 2556 - 2557  โดยเพาะถั่วงอกเป็นชั้นๆ ในถังพลาสติกสีดำ ตามวิธีการเพาะถั่วงอก 7 ระยะ ได้แก่ (1) แช่น้ำ 6 ชั่วโมง  (2) เพาะถั่วงอกที่ 24 ชั่วโมง  (3) เพาะถั่วงอกที่ 48 ชั่วโมง  (4)  เพาะถั่วงอกที่ 72 ชั่วโมง (5) เพาะถั่วงอกที่ 72 ชั่วโมงผึ่ง 6  ชั่วโมง  (6) เพาะถั่วงอกที่ 72 ชั่วโมงผึ่ง 24 ชั่วโมง  และ (7)  เพาะถั่วงอกที่ 72 ชั่วโมงผึ่ง 48 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่า ปริมาณผลผลิตถั่วงอกเพิ่มขึ้นตามระยะการเพาะ โดยที่ระยะเพาะถั่วงอกที่ 72 ชั่วโมงผึ่ง 24 ชั่วโมง ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ  ทุกพันธุ์ให้น้ำหนักสดถั่วงอกสูงสุด โดยสายพันธุ์ CNMB 06-02-20-5 และ CNBGL 67-1  ให้ผลผลิตสูงสุด 6,183 และ 6,075 สูงกว่าพันธุ์อื่นๆ  เมื่อนำมาวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่า ที่ระยะเพาะถั่วงอกที่ 72 ชั่วโมง  ผึ่ง 48 ชั่วโมง มีปริมาณโปรตีน วิตามินซี เส้นใยหยาบ และคลอโรฟิลล์สูงสุด โดยถั่วเขียวผิวมันสายพันธุ์ CNMB 06-02-20-5 ให้ปริมาณโปรตีน ปริมาณวิตามินซี ปริมาณเส้นใยหยาบ และปริมาณคลอโรฟิลล์สูงสุด เท่ากับ 42.6 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักแห้ง) 1.8, 11.15 และ 8.07 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ตามลำดับ สำหรับถั่วเขียวผิวดำ สายพันธุ์ CNBGL 67-1 ให้ปริมาณโปรตีน และปริมาณวิตามินซีสูงสุด เท่ากับ 44.1 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักแห้ง) และ 2.3 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ตามลำดับ ขณะที่ระยะเพาะถั่วงอกที่ 24 ชั่วโมง ให้ปริมาณสาร GABA สูงสุด ถั่วเขียวผิวดำสายพันธุ์ CNBGL 67-1 ให้ปริมาณสาร GABA สูงสุดเท่ากับ 24.23 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม 


ไฟล์แนบ
.pdf   94_2557.pdf (ขนาด: 326.82 KB / ดาวน์โหลด: 1,462)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม