ศึกษาคุณภาพแป้ง และองค์ประกอบทางเคมี ในผลผลิตของมันแกวที่อายุเก็บเกี่ยวต่างกัน
#1
ศึกษาคุณภาพแป้ง และองค์ประกอบทางเคมี ในผลผลิตของมันแกวที่อายุเก็บเกี่ยวต่างกันในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
อนุชา  เหลาเคน, นิพนธ์ ภาชนะวรรณ, จารุวรรณ บางแวก, วิมลวรรณ วัฒนวิจิตร, นาตยา จันทร์ส่อง, บุญชู สมสา, พนิดา อ่อนสา, มะลิวรรณ์ ทบภักดิ์, กฤษฎา สาทองขาว 
และจักรพรรดิ์ วุ้นสีแซง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม, สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4

          การศึกษาระบบการผลิตมันแกวของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการผลิตมันแกวของเกษตรกร และทราบมาตรฐานด้านคุณภาพ ความปลอดภัยจากสารพิษตกค้างที่อาจเกิดขึ้นในระบบการผลิตมันแกวของเกษตร จึงได้ทำการศึกษา และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบหาสารพิษตกค้างในผลผลิตของมันแกว จากผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรมีการปลูกและใช้เทคโนโลยีตามประสบการณ์ที่เคยทำมา ยังไม่มีคำแนะนำทางวิชาการอย่างเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ มีปัจจัยที่มีผลกระทบและเปลี่ยนแปลงการผลิตมันแกวที่สำคัญหลายปัจจัย เช่น ประสบการณ์ มีผลต่อพื้นที่ที่ใช้ปลูก ระบบการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการวิจัยและพัฒนา เช่น พันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต ปัจจัยการผลผลิตต่างๆ และปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อม เช่น ดิน โรค และแมลง เป็นต้น ทางด้านการผลิตและผลตอบแทนพบว่า เกษตรกรสามารถผลิตมันแกวได้ผลผลผลิตเฉลี่ย 3.6 ตัน/ไร่ โดยมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 5,308 บาท/ไร่ คิดเป็นอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนรวมต่อไร่ (Benefit Cost Ratio : BCR) เท่ากับ 2.07 ในกรณีที่จำหน่ายในลักษณะเหมาแปลง และเท่ากับ 8.13 ในกรณีที่นำผลผลิตไปตั้งนั่งร้านจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่สร้างรายได้ และผลตอบแทนต่อไร่ให้กับเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามได้ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษารายละเอียดปัจจัยต่างๆ ให้มากขึ้นแล้วนำมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันแกวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตมันแกวในพื้นที่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตได้อย่างเหมาะสม มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการ สามารถนำผลผลิตไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนั้นจึงได้การศึกษาคุณภาพแป้ง และองค์ประกอบทางเคมีในผลผลิตของมันแกวที่อายุเก็บเกี่ยวต่างกัน เป็นการศึกษาเพื่อทราบข้อมูลด้านคุณภาพแป้ง และปริมาณองค์ประกอบทางเคมีต่างๆ ที่มีอยู่ในผลผลิตของมันแกวที่อายุเก็บเกี่ยวต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีราคาสูงขึ้นมากกว่าการบริโภคสด การศึกษาทำการทดลองในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ในเดือนเมษายน 2553 ถึงเดือนกันยายน 2553 พบว่าอายุเก็บเกี่ยวที่ต่างกันของมันแกวไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางลำต้นมากนัก แต่มีผลอย่างยิ่งต่อขนาด และปริมาณของผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุประมาณ 30 วันขึ้นไปหลังปลูก มันแกวก็จะเริ่มสะสมแป้งและน้ำตาล ในส่วนของปริมาณแป้ง และองค์ประกอบทางเคมีของมันแกวที่อายุเก็บเกี่ยวต่างกันพบว่า อายุเก็บเกี่ยวที่ต่างกันไม่มีผลต่อปริมาณแป้งในหัวมันแกว แต่มีผลต่อองค์ปะกอบทางเคมี เช่น ปริมาณโปรตีน ไขมัน และต่อคุณภาพแป้ง คือความหนืดสูงสุดและค่า Set back ซึ่งจะมีผลต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1868_2554.pdf (ขนาด: 187.68 KB / ดาวน์โหลด: 1,108)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม