การศึกษาวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าว ในกล้วยไม้กระถาง (สกุลหวาย) เพื่อการส่งออก
#1
การศึกษาวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าว ในกล้วยไม้กระถาง (สกุลหวาย) เพื่อการส่งออก 
นายนุกูล อ่อนนิ่ม, กุลธิดา ดอนอยู่ไพร, กฤชพร ศรีสังข์, วิลาวรรณ ไชยบุตร, เยาวภา เต้าชัยภูมิ และพุทธธินันทร์ จารุวัฒน์
กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี 

          การศึกษาวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวในกล้วยไม้กระถาง (Pot Plant) เป็นการมุ่งเน้นที่ศึกษาเพื่อหาความเหมาะสมของวัสดุปลูกกับพันธุ์ของกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อการส่งออกที่อายุปลูกประมาณ 8 เดือน ซึ่งมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวัสดุปลูกในกล้วยไม้ต้น และกล้วยไม้กระถางที่ประเทศไทย มีการใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก เมื่อส่งออกจะพบปัญหาหลายอย่างทั้งโรคแมลง และวัชพืช ที่มีติดไปกับวัสดุปลูก แต่จากการศึกษากล้วยไม้ที่ส่งออกจะเจริญอยู่ในช่วงใกล้ออกดอก หรือกำลังแทงตาดอก (near booming) ฉะนั้นความสมบูรณ์ของลำลูกกล้วย และใบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรูปลักษณ์ของการส่งออก วัสดุปลูกชนิดแรกที่เหมาะสมกับช่วงนี้คือ ถ่าน เพราะสามารถใช้เป็นวัสดุปลูกเพียงเพื่อการค้ำยันลำต้น ไม่พบปัญหาเรื่องโรค แมลง และวัชพืช และส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช ในด้านความกว้าง ความหนาของลำลูกกล้วยเก่า จำนวนลำลูกกล้วย รวมถึงความกว้างและความยาวของใบก่อนออกดอก เมื่อใช้เป็นวัสดุปลูกกับกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ดอกสีขาว (พันธุ์ 5 N) และวัสดุปลูกชนิดที่ 2 ที่เหมาะสมคือ โฟม เป็นวัสดุปลูกที่หาได้ง่าย พบเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน มีความเหมาะสมที่ใช้เป็นวัสดุปลูกในการประคองลำต้นกล้วยไม้สกุลหวาย และไม่พบปัญหาในเรื่องโรค แมลง และวัชพืชเช่นเดียวกับถ่าน และส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อใช้เป็นวัสดุปลูกกับกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ดอกสีแดง (เฮียสกุล) และพันธุ์ดอกสีเหลือง (เหลือง 246) แต่ก็พบว่าจากการศึกษาวัสดุปลูกทั้ง 6 ชนิด เมื่อปลูกเข้าปีที่ 2 ของงานวิจัย ความสูงของต้นเก่า จำนวนราก จำนวนหน่อ และความสูงของหน่อใหม่ วัสดุปลูกทั้ง 6 ชนิด ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ จึงสามารถเลือกใช้วัสดุปลูกชนิดใดก็ได้ที่สามารถหาได้ง่าย เหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม หรือมีราคาถูก ได้ตามความเหมาะสม


ไฟล์แนบ
.pdf   169_2557.pdf (ขนาด: 182.76 KB / ดาวน์โหลด: 733)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม