โครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง
#1
โครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง
อรทัย วงค์เมธา, สุเมธ พากเพียร, นงคราญ โชติอิ่มอุดม, กิตติชัย แซ่ย่าง, สาคร ยังผ่อง, ศิรินันท์ญา จรินทร, วีระพรรณ ตันเส้า, อนุภพ เผือกผ่อง, ศิริลักษณ์ อินทะวงศ์, ชัยกฤต พรมมา, สมคิด รัตนบุรี, สนอง จรินทร, อรอนงค์ สว่างสุริยวงษ์ และฐิตาภรณ์ เรืองกูล
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพืชสวน

          การดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งและเทคโนโลยีการผลิต ประกอบไปด้วยการทดสอบอิทธิพลของสารเร่ง และจำนวนข้อต่อการเจริญเติบโตของต้นแม่พันธุ์มันฝรั่ง อิทธิพลของสารเร่งการเจริญเติบโตต่อการเพิ่มปริมาณของหัวพันธุ์มันฝรั่งขนาดเล็ก (microtubers) และการเปรียบเทียบจำนวนข้อที่เหมาะสมร่วมกับการใช้ฮอร์โมนเร่งรากสำหรับการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งในระบบแอโรโปนิค ดังนี้

          การทดลองอิทธิพลของสารเร่ง และจำนวนข้อต่อการเจริญเติบโตของต้นแม่พันธุ์มันฝรั่ง ได้ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ปี 2557 - 2558 โดยวางแผนการทดลองแบบ 2 x 4 Factorial in RCBD ประกอบด้วย 2 ปัจจัย 4 ซ้ำ ปัจจัยที่ 1 คือ การใส่สารควบคุมการเจริญเติบโต ได้แก่ gibberellins (GA) และ naphthalene acetic acid (NAA) ที่ความเข้มข้น 1 mgl-1 ปัจจัยที่ 2 คือ การตัดข้อ ได้แก่ ข้อที่หนึ่ง, ข้อที่สอง, ข้อที่สาม และข้อที่สี่ และนำไปเพาะเลี้ยงด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์แบบจมชั่วคราว (Temporary Immersion Bioreactor; TIB) ทำการตั้งเวลาให้อาหาร วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที และทำการบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นอ่อนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากการทดลองพบว่าการใส่สารควบคุมการเจริญเติบโต GA ส่งผลให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าการใส่สารควบคุมการเจริญเติบโต NAA และเมื่อใส่ GA ร่วมกับการตัดข้อที่ 1 ให้น้ำหนักเฉลี่ยสูงที่สุด 144.4 มิลลิกรัม และจำนวนรากสูงสุดเฉลี่ย 9.6 ราก ไม่มีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติกับการใส่ NAA และมีเปอร์เซ็นต์การรอดตายที่ 1 เดือนเฉลี่ยมากที่สุด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติกับการใส่ NAA การใส่สารควบคุมการเจริญเติบโต GA ร่วมกับการตัดข้อที่ 2 จะทำให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นเฉลี่ยสูงสุด 0.64 มิลลิเมตร มีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติกับการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต NAA การใส่ GA ร่วมกับการตัดข้อที่ 3 มีจำนวนใบเฉลี่ยสูงที่สุด 6.4 ใบ มีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติกับการใส่ NAA และการใส่ GA ร่วมกับการตัดข้อที่ 4 ให้จำนวนยอดเฉลี่ยสูงที่สุด 1.2 ยอด และมีความยาวรากสูงที่สุด 4.83 เซนติเมตร มีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติกับการใส่สารควบคุมการเจริญเติบโต NAA นอกจากนี้หัวพันธุ์ขนาดเล็กที่ได้จากต้นแม่พันธุ์ที่ทำการ cutting ของต้นมันฝรั่งที่ใช้อาหารสูตร MS ใส่ GA ร่วมกับการตัดข้อที่ 2 จะให้จำนวนหัวมากที่สุด 6.7 หัว แต่อย่างไรก็ตามไม่มีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติกับการใส่สารควบคุมการเจริญเติบโต NAA

          การศึกษาอิทธิพลของสารเร่งการเจริญเติบโตต่อการเพิ่มปริมาณของหัวพันธุ์มันฝรั่งขนาดเล็ก ได้ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ปี 2557 - 2558 โดยแบ่งออกเป็นสองการทดลองย่อย การทดลองแรก คือ การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งขนาดเล็กด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์แบบจมชั่วคราว (Temporary Immersion Bioreactor; TIB) วางแผนการทดลองแบบ แบบ CRD มี 5 กรรมวิธีๆ ละ 4 ซ้ำ ได้แก่ อาหารเหลวสูตร MS, อาหารเหลวสูตร MS + BAP (6-benzylaminopurine), อาหารเหลวสูตร MS + TDZ (Thidiazuron), อาหารเหลวสูตร MS + Kinetin และอาหารเหลวสูตร MS + Mannitol จากการทดลองพบว่า หลังตัดชำข้อได้ 4 สัปดาห์ การใช้อาหารเหลวสูตร MS + BAP (6-benzylaminopurine) สามารถกระตุ้นการเจริญของต้นอ่อนดีที่สุด ใกล้เคียงกับการใช้อาหารเหลวสูตร MS แต่เมื่อระยะเวลาเพิ่มมากขึ้นต้นอ่อนของมันฝรั่งเริ่มชะลอการเจริญเติบโต และหยุดการเจริญเติบโต เมื่ออายุ 5 สัปดาห์ เมื่อต้นมันฝรั่งอายุ 7 สัปดาห์ จะมีสภาพทรุดโทรม และไม่สามารถชักนำให้เกิดหัวได้ ส่วนการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งขนาดเล็กในอาหารแข็ง วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 6 กรรมวิธีๆ ละ 4 ซ้ำ คือ เพาะเลี้ยงด้วยอาหารแข็งสูตร MS (Control), อาหารแข็งสูตร MS + BAP, อาหารแข็งสูตร MS + TDZ, อาหารแข็งสูตร MS + Kinetin, อาหารแข็งสูตร MS + Mannitol และอาหารแข็งสูตร MS + Coconut และทำการบันทึกการเจริญเติบโต และจำนวนหัวของต้นอ่อนมันฝรั่ง พบว่าการใช้อาหารแข็งสูตร MS + 6-benzylaminopurine มีจำนวนหัวเฉลี่ย 7.38 หัว น้ำหนักหัวมันฝรั่งเฉลี่ย 0.68 กรัม และน้ำหนักต้นมันฝรั่งทั้งก่อนอบและหลังอบดีที่สุด คือ 1.44 และ 0.19 กรัม ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีอื่นๆ ส่วนการใช้อาหารแข็งสูตร MS + Thidiazuron ให้ขนาดของหัวมันฝรั่งดีที่สุด คือกว้าง 5.28 มิลลิเมตร และยาว 5.21 มิลลิเมตร มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการใช้อาหารแข็งสูตร MS + Coconut

          การทดสอบการเปรียบเทียบจำนวนข้อที่เหมาะสมร่วมกับการใช้ฮอร์โมนเร่งรากสำหรับการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งในระบบแอโรโปนิค ได้ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ในปี 2558 - 2559 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB ประกอบด้วย 5 กรรมวิธี คือ การปักชำ 2 ข้อ (1 ข้อบน 1 ข้อล่าง), การปักชำ 3 ข้อ (1 ข้อบน 2 ข้อล่าง), การปักชำ 3 ข้อ (2 ข้อบน 1 ข้อล่าง), การปักชำ 4 ข้อ (2 ข้อบน 2 ข้อล่าง) และการปักชำ 5 ข้อ (3 ข้อบน 2 ข้อล่าง) นำต้นปักชำไปแช่ในไคโตซาน อัตรา 1 ml l-1 และไตรโคเดอร์ม่านาน 15 นาที ใช้ระยะปลูก 10 x 10 เซนติเมตร ในพื้นที่ปลูกทั้งหมด 72 ตารางเมตร จากการทดลองพบว่าในฤดูฝนการปักชำ 2 ข้อ (1 ข้อบน 1 ข้อล่าง) ให้จำนวนหัวต่อพื้นเฉลี่ยสูงที่สุด 536 หัว ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการปักชำ 3 ข้อ (1 ข้อบน 2 ข้อล่าง) ซึ่งมีจำนวนหัวต่อพื้นที่เฉลี่ยรองลงมา 520 หัว ด้านผลผลิตรวมเฉลี่ยพบว่า การปักชำ 3 ข้อ (1 ข้อบน 2 ข้อล่าง) ให้ผลผลิตรวมเฉลี่ยมากที่สุด 4.9 กิโลกรัม ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการปักชำ 2 ข้อ (1 ข้อบน 1 ข้อล่าง) ซึ่งมีผลผลิตรวมเฉลี่ยรองลงมา 4.8 หัว ในช่วงฤดูแล้ง พบว่าการปักชำ 2 ข้อ (1 ข้อบน 1 ข้อล่าง) มีจำนวนหัวต่อพื้นที่เฉลี่ยและผลผลิตรวมเฉลี่ยสูงที่สุด 300 หัว และ3.3 กิโลกรัม ตามลำดับ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการปักชำ 3 ข้อ (1 ข้อบน 2 ข้อล่าง) ซึ่งมีจำนวนหัวต่อพื้นที่เฉลี่ยและผลผลิตรวมเฉลี่ยรองลงมา 260 หัว และ 3 กิโลกรัม ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   18_2559.pdf (ขนาด: 2.6 MB / ดาวน์โหลด: 494)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม