การคัดเลือกและทดสอบพันธุ์ผักกาดขาวปลี (ระยะที่ 2)
#1
การคัดเลือกและทดสอบพันธุ์ผักกาดขาวปลี (ระยะที่ 2)
กฤษณ์ ลินวัฒนา, อรทัย วงค์เมธา, กิตติชัย แซ่ย่าง, อรอนงค์ สว่างสุริยวงษ์ และวีระพรรณ ตันเส้า
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพืชสวน

          การทดสอบพันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสมได้ดำเนินการในแปลงวิจัยศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ปี 2558 - 2559 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB ประกอบด้วย 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 คือ พันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสมทนร้อนที่ได้จากคู่ผสม E7 x B18 กรรมวิธีที่ 2 คือ พันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสมทนร้อนที่ได้จากคู่ผสม B18 x E7 กรรมวิธีที่ 3 คือ พันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสมจากร้านค้าพันธุ์ที่ 1 กรรมวิธีที่ 4 คือ พันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสมจากร้านค้าพันธุ์ที่ 2 และกรรมวิธีที่ 5 คือ พันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสมจากร้านค้าพันธุ์ที่ 3 ซึ่งการทดสอบพันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสมประกอบด้วย 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝนและฤดูหนาว โดยเตรียมแปลงปลูกขนาด 1.2 x 5 เมตร ใช้ระยะปลูก 25 x 25 เซนติเมตร ตามแต่ละกรรมวิธี การทดสอบฤดูฝนพบว่า พันธุ์คู่ผสม B18 x E7 มีผลผลิตเฉลี่ยมากที่สุด 33.8 กิโลกรัม ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสม จากร้านค้าพันธุ์ที่ 3 และร้านค้าพันธุ์ที่ 1 ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 28 และ 26.3 กิโลกรัม ตามลำดับ แต่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับร้านค้าพันธุ์ที่ 2 และคู่ผสม E7 x B18 ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 24.2 และ 23.4 กิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนช่วงฤดูหนาวพบว่า พันธุ์ผักกาดขาวปลีลูกผสม จากร้านค้าพันธุ์ที่ 1 มีผลผลิตเฉลี่ยมากที่สุด 37.6 กิโลกรัม ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับคู่ผสม E7 x B18, B18 x E7 และร้านค้าพันธุ์ที่ 3 มีผลผลิตเฉลี่ย 35.8, 31.3 และ 26 กิโลกรัม ตามลำดับ แต่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับร้านค้าพันธุ์ที่ 2 ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 24.8 กิโลกรัม

          การคัดเลือกพันธุ์ผักกาดขาวปลีผสมเปิดทนร้อน ได้ดำเนินการในแปลงวิจัยศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ปี 2558 - 2559 โดยใช้เมล็ดพันธุ์ผักกาดขาวปลีจาก Asian Vegetable Research and Development Center–The world vegetable center (AVRDC-The world vegetable center), ประเทศไต้หวัน จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ V10606461106, V90606441104 และคู่ผสม E7 x B18 ซึ่งดำเนินการคัดเลือกจากต้นที่มีลักษณะการเข้าปลีแน่น โดยใช้ไม้หลักทำเครื่องหมายที่ดีที่สุด (D1) ปักไม้จำนวน 3 หลักที่ดี รองลงมา (D2) ปักไม้ จำนวน 2 หลัก และที่ดีพอใช้ (D3) ปักไม้จำนวน 1 หลักย้ายต้นที่คัดเลือกไปปลูกรวมกันวางเป็นชั้น ชั้นนอกสุดคือดีพอใช้ (D3) ชั้นกลางคือดีรองลงมา (D2) และชั้นในสุดคือดีที่สุด (D1) ห่างจากแปลงเดิมอย่างน้อย 1 กิโลเมตร น้ำหนักเมล็ดที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ที่เข้าปลีดีที่สุด (D1) 251.8 กรัม น้ำหนักเมล็ดที่ได้จากการเข้าปลีดีรองลงมา (D2) 322.4 กรัม และน้ำหนักเมล็ดที่ได้จากการเข้าปลีดีพอใช้ (D3) 534.2 กรัม จากนั้นนำเมล็ดที่ได้จากการผสมเปิดด้วยวิธีการคัดเลือกแบบ maternal line selection มาทำการทดสอบพันธุ์ผักกาดขาวปลีผสมเปิดทนร้อน โดยนำเมล็ดพันธุ์ D1 และ D2 จากการคัดเลือกพันธุ์ผักกาดขาวปลีผสมเปิดทนร้อนมาทดสอบกับพันธุ์การค้าในแปลงวิจัยศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ปี 2559 วางแผนการทดลองแบบ RCB ประกอบด้วย 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ กรรมวิธีที่ 1 คือ พันธุ์ D1, กรรมวิธีที่ 2 คือ พันธุ์ D2, กรรมวิธีที่ 3 คือ พันธุ์การค้า 1, กรรมวิธีที่ 4 คือ พันธุ์การค้า 2 และกรรมวิธีที่ 5 คือ พันธุ์การค้า 3 เตรียมแปลงปลูกขนาด 1.2 x 5 เมตร ใช้ระยะปลูก 25 X 25 เซนติเมตร ตามแต่ละกรรมวิธี พบว่าพันธุ์ D1 มีผลผลิตมากที่ 34.5 กิโลกรัม รองลงมา คือ พันธุ์ D2, พันธุ์การค้า 2, พันธุ์การค้า 3 และพันธุ์การค้า 1 มีผลผลิตเฉลี่ย 28.5, 25, 24.8 และ 23.8 กิโลกรัม ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


ไฟล์แนบ
.pdf   20_2559.pdf (ขนาด: 3.89 MB / ดาวน์โหลด: 1,187)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม