การควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่ส่งผลให้เกิดไส้สีน้ำตาลในสับปะรดผลสดพันธุ์ตราดสีทอง
#1
การควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่ส่งผลให้เกิดไส้สีน้ำตาลในสับปะรดผลสดพันธุ์ตราดสีทองโดยวิธีการทางกายภาพ
วรางคณา มากกำไร, วีรา คล้ายพุก, อุทัยวรรณ ทรัพย์แก้ว, หยกทิพย์ สุดารีย์ และดารากร เผ่าชู

          ปัญหาไส้สีน้ำตาลในสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออกเป็นปัญหาสำคัญของไทย โดยเฉพาะพันธุ์ตราดสีทองซึ่งมีลักษณะเหมาะสมต่อการส่งออกผลสดแต่มีความอ่อนแอต่อไส้สีน้ำตาลมาก การศึกษาการควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่ส่งผลให้เกิดไส้สีน้ำตาลในสับปะรดผลสดพันธุ์ตราดสีทองโดยวิธีการทางกายภาพ ดำเนินการที่สถาบันวิจัยพืชสวน ระหว่างปี 2558 - 2559 เพื่อศึกษาการใช้สารเคลือบชนิดต่างๆ การใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ และการใช้สารเคลือบร่วมกับบรรจุภัณฑ์ ในการควบคุมการเกิดไส้สีน้ำตาลในสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง โดยเก็บผลสับปะรดตราดสีทองจากแปลงเกษตรกร จ.ตราด ระยะแก่เขียว (หลังบังคับดอก 139 วัน) ในเดือนเมษายน และมิถุนายน ปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวตามกรรมวิธี และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13±2 องศาเซลเซียส 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำผลมาตรวจประเมินอาการไส้สีน้ำตาลและคุณภาพด้านต่างๆ โดย

          การศึกษาการใช้สารเคลือบชนิดต่างๆ ดำเนินการในปี 2558 วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 6 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ซ้ำละ 1 กล่อง (6 ผล/กล่อง) กรรมวิธีที่ 1 ชุดควบคุม (ไม่เคลือบผิวผล) กรรมวิธีที่ 2 เคลือบผิวผลด้วย Chitosan 2% กรรมวิธีที่ 3 เคลือบผิวผลด้วย Wax GLK (WAXES 18% w/v Shellac, wax) กรรมวิธีที่ 4 เคลือบผิวผลด้วย Cellophane sheet กรรมวิธีที่ 5 เคลือบผิวผลด้วย Chitosan 2% ร่วมกับ Cellophane sheetและกรรมวิธีที่ 6 เคลือบผิวผลด้วย Wax GLK (WAXES 18% w/v (Shellac, wax) ร่วมกับ Cellophane sheet ผลการทดลองพบว่า การเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet มีแนวโน้มควบคุมการเกิดไส้สีน้ำตาลได้ดีที่สุด รองลงมาคือ การเคลือบผิวผลด้วย Chitosan 2% ร่วมกับ Cellophane sheet โดยในครั้งที่ 1 เดือนเมษายน พบคะแนนเฉลี่ยการเกิดไส้สีน้ำตาลต่ำกว่า 2 (< 25% ของพื้นที่หน้าตัดผิว) คือ 1.72 และ 1.94 ตามลำดับ และมีเปอร์เซ็นต์จำนวนผลที่อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ (ไม่เป็นไส้สีน้ำตาลรวมกับผลทีเป็นไส้สีน้ำตาล < 25% ของพื้นที่หน้าตัดผิว) > 70% (85% และ 82% ตามลำดับ) ในขณะที่ครั้งที่ 2 เดือนมิถุนายน มีเพียงการเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK (WAXES 18% w/v (Shellac, wax) ร่วมกับ Cellophane sheet สามารถควบคุมการเกิดไส้สีน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คือ มีคะแนนการเกิดไส้สีน้ำตาล 1.94 และเปอร์เซ็นต์จำนวนผลอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ 82% โดยที่กรรมวิธีนี้ไม่มีผลต่อคุณภาพด้านอื่นๆ ได้แก่ ความแน่นเนื้อ การสูญเสียน้ำหนัก %TSS %TA รวมถึงกลิ่นและรสชาติไม่แตกต่างจากชุดควบคุม แต่อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์สถิติของค่าคะแนนไส้สีน้ำตาลไม่แตกต่างกันระหว่างกรรมวิธี รวมทั้งการเกิดปฏิกิริยาของเอ็นไซม์ PPO และปริมาณวิตามินซีไม่มีความแตกต่างทางสถิติระหว่างกรรมวิธีเช่นกัน แต่มีความแตกต่างและสอดคล้องกับการเกิดไส้สีน้ำตาลระหว่างการทดลองในเดือนเมษายนและเดือนมิถุนายน กล่าวคือในเดือนมิถุนายนมีค่าการเกิดไส้สีน้ำตาลสูง ปฏิกิริยาของเอ็นไซม์ PPO สูง ในขณะที่ปริมาณวิตามินซีต่ำ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยทางสภาพอากาศมีอิทธิพลต่อการเกิดไส้สีน้ำตาลมากกกว่าผลของการใช้สารเคลือบต่างๆ

          การศึกษาการใช้บรรจุภัณฑ์ (MAPs) ชนิดต่างๆ ดำเนินการในปี 2558 วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ซ้ำละ1 กล่อง (6 ผล/กล่อง) กรรมวิธีที่ 1 ชุดควบคุม (บรรจุผลสับปะรดในกล่องกระดาษ) กรรมวิธีที่ 2 บรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก PP (plypropylene) กรรมวิธีที่ 3 บรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE (low density polyethylene) และกรรมวิธีที่ 4 บรรจุผลสับปะรดฟิล์มพลาสติก PVC (polyvinyl chloride) ผลการทดลองพบว่า การบรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE มีแนวโน้มควบคุมการเกิดไส้สีน้ำตาลได้ดีที่สุด รองลงมาคือ บรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก PP (plypropylene) โดยการบรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE มีคะแนนเฉลี่ยการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลต่ำที่สุดในการทดลองครั้งที่ 1 เดือนเมษายน และครั้งที่ 2 เดือนมิถุนายน คือ 2.00 และ 2.67 ตามลำดับ ซึ่งในการทดลองครั้งที่ 1 คะแนนเท่ากับ 2 เป็นคะแนนที่ยอมรับได้ (< 25% ของพื้นที่หน้าตัดผิว) สำหรับการเกิดปฏิกิริยาของเอมไซม์ PPO (Polyphenol oxidase activity) พบว่าในการทดลองทั้งสองครั้งไม่มีความแตกต่างทางสถิติระหว่างกรรมวิธี โดยการทดลองครั้งที่ 2 บรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE มีค่าต่ำสุด 375.424 μmol/min/mg เมื่อเปรียบเทียบค่าการเกิดปฏิกิริยาของเอมไซม์ PPO ในการทดลองทั้งสองครั้ง พบว่าในเดือนเมษายนมีการเกิด ปฏิกิริยาของเอมไซม์ PPO น้อยกว่าในเดือนมิถุนายน และมีเปอร์เซ็นต์จำนวนผลที่อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ในการทดลองครั้งที่ 1 เท่ากับ 75% (ไม่เป็นไส้สีน้ำตาลรวมกับผลทีเป็นไส้สีน้ำตาล < 25% ของพื้นที่หน้าตัดผิว) > 70% สำหรับผลด้านคุณภาพอื่นๆ พบว่า ในการทดลองครั้งที่ 1 บรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE ส่งผลต่อการสูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในการทดลองครั้งที่ 2 ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ส่วนค่าความแน่นเนื้อ และ %TSS พบว่าในการทดลองครั้งที่ 1 มีค่าสูงสุดแตกต่างกันทางสถิติ แต่ในการทดลองครั้งที่ 2 ไม่พบความแตกต่างทางสถิติ และสำหรับ %TSS, %TA และ %V.C รวมถึงกลิ่นและรสชาติ ไม่แตกต่างจากชุดควบคุม

          การศึกษาการใช้สารเคลือบร่วมกับบรรจุภัณฑ์ ดำเนินการในปี 2559 โดยนำชนิดของสารเคลือบและถุงบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดที่ได้จากงานวิจัยที่ในปี 2558 มาทดสอบร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมอาการไส้สีน้ำตาลในสับปะรดตราดสีทอง โดยทำการทดลอง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในเดือนเมษายน วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 8 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ซ้ำละ 1 กล่อง (6 ผล/กล่อง) กรรมวิธีที่ 1 ชุดควบคุม (ไม่เคลือบผิวหรือบรรจุถุงใดๆ) กรรมวิธีที่ 2 บรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE (Low density polyethylene) กรรมวิธีที่ 3 เคลือบผิวผลด้วย Wax GLK (WAXES 18%w/v Shellac, wax) กรรมวิธีที่ 4 เคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet กรรมวิธีที่ 5 เคลือบผิวผลด้วย Chitosan 2% ร่วมกับ Cellophane sheet กรรมวิธีที่ 6 เคลือบผิวผลด้วย Wax GLK และบรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE กรรมวิธีที่ 7 เคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet และบรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE กรรมวิธีที่ 8 เคลือบผิวผลด้วย Chitosan 2% ร่วมกับ Cellophane sheet และบรรจุผลสับปะรดในถุงพลาสติก LDPE ผลการทดลองพบว่า การเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet การเคลือบผิวผลด้วย Chitosan 2% ร่วมกับ Cellophane sheet และการเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK สามารถควบคุมอาการไส้สีน้ำตาลได้ดีที่สุด โดยมีค่าคะแนนการเกิดไส้สีน้ำตาลไม่เกิน 2 (สีน้ำตาล <25% ของพื้นที่แกน) คือ 1.7 (12.1%), 1.8 (12.8%) และ 1.8 (17.1%) ตามลำดับ เปอร์เซ็นต์จำนวนผลที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ (ไม่เป็นไส้สีน้ำตาลรวมกับผลทีเป็นไส้สีน้ำตาล < 25% ของพื้นที่หน้าตัดผิว) > 70% คือ 83 89 และ 73% ตามลำดับ อัตราการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ PPO น้อยที่สุด คือ 20.701 19.542 และ 20.494 μmol/min/mg protein ตามลำดับ และมีปริมาณวิตามินซีสูงสุด คือ 21.09 22.98 และ 19.30 mg/100 gFW ตามลำดับ ดังนั้น ในการทดลองครั้งที่ 2 จึงนำกรรมวิธีทั้ง 3 มาทดสอบเปรียบเทียบกันอีกครั้ง โดยเก็บผลสับปะรดตราดสีทองจากแหล่งเดิมในเดือนมิถุนายน วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 กรรมวิธี 5 ซ้ำ ซ้ำละ 1 กล่อง (6 ผล/กล่อง) กรรมวิธีที่ 1 ชุดควบคุม (ไม่เคลือบผิวหรือบรรจุถุงใดๆ) กรรมวิธีที่ 2 เคลือบผิวผลด้วย Chitosan 2% ร่วมกับ Cellophane sheet กรรมวิธีที่ 3 การเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet และกรรมวิธีที่ 4 การเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13±2 องศาเซลเซียส 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำผลมาตรวจประเมินอาการไส้สีน้ำตาล พบว่าทุกกรรมวิธีมีคะแนนไส้สีน้ำตาลไม่เกิน 2 และไม่แตกต่างทางสถิติ และมีเปอร์เซ็นต์จำนวนผลที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ >70% ทุกกรรมวิธี นอกจากนี้ พบว่ากรรมวิธีที่ 3 การเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet มีการสูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุด จากการทดลองทั้ง 2 ครั้ง พบว่ากรรมวิธีที่มีประสิทธิภาพดีสม่ำเสมอในการควบคุมอาการไส้สีน้ำตาลทั้ง 2 ครั้ง คือ การเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet มีคะแนนการเกิดไส้สีน้ำตาล 1.7 คะแนน เปอร์เซ็นต์จำนวนผลที่มีค่าคะแนนการเกิดไส้สีน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ 83% อัตราการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ต่ำ กิจกรรมของแอนตี้ออกซิแดนท์ค่อนข้างสูง ปริมาณวิตามินซีสูง การสูญเสียน้ำหนักน้อย ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาล กรด กลิ่นและรสชาติใดๆ ดังนั้น การเคลือบผิวผลด้วย Wax GLK ร่วมกับ Cellophane sheet จึงมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการควบคุมอาการไส้สีน้ำตาลในสับปะรดตราดสีทอง


ไฟล์แนบ
.pdf   22_2559.pdf (ขนาด: 1.29 MB / ดาวน์โหลด: 500)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม