การผลิตลองกองคุณภาพในสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเขตภาคเหนือตอนล่าง
#1
การผลิตลองกองคุณภาพในสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเขตภาคเหนือตอนล่าง
กฤชพร ศรีสังข์

          โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตลองกองคุณภาพในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเขตภาคเหนือตอนล่างดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตลองกองอย่างมีคุณภาพ ในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยซึ่งเป็นแหล่งผลิตลองกองในเขตภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งพบว่ามีปัญหาทางในการผลิตลองกอง ผลผลิตต่ำและไม่มีคุณภาพ มีโรคและแมลงศัตรูระบาดรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ หนอนชอนเปลือกลองกองระบาดรุนแรงพบทุกสวนลองกอง สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากและรุนแรงในปี 2553 เกิดภาวะแห้งแล้งผิดปกติ ซึ่งแตกต่างสภาพภูมิอากาศในปี 2554 ที่มีฝนตกติดต่อกันจึงมีผลกระทบต่อการผลิตลองกองของเกษตรกร และประสบกับปัญหาผลผลิตต่ำมากและผลผลิตไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมากในพื้นที่ การเข้าทำลายของหนอนชอนเปลือกลองกองระบาดมากซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญในเขตนี้เป็นเหตุทำให้ผลผลิตลองกองออกมาไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ลองกองในภาคเหนือจึงมีคุณภาพด้อยกว่าทางภาคตะวันออกและภาคใต้มาก และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้นการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองของเกษตรกรเขตจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัย ทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต และการระบาดของหนอนชอนเปลือกลองกองในสภาวะแวดล้อมที่ภูมิอากาศเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีเกษตรกรมีส่วนร่วม การวิจัยโดยเน้นการปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตลองกองให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนเงื่อนไขของเกษตรกรผู้ปลูกลองกอง จากการศึกษาปัจจัยของสภาพแวดล้อมต่อการติดดอก ติดผล และผลผลิตของลองกอง ดำเนินการในปี 2557 - 2559 โดยศึกษาปริมาณความเข้มแสงในทรงพุ่มและนอกทรงพุ่ม ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นในดิน อุณหภูมิสูง - ต่ำในแต่ละวัน ปริมาณน้ำฝน ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต ข้อมูลการจัดการแปลงของเกษตรกร ผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารจากใบลองกองและข้อมูลคุณภาพผลผลิตจากแต่ละแปลงพบว่า ปริมาณของผลผลิตในแต่ละแปลงมีแนวโน้มที่แตกต่างกันในแต่ละปี ซึ่งการเกิดดอกและการพัฒนาสู่การเป็นผลจะผันแปรกับอุณหภูมิ ความต่อเนื่องของสภาวะความเครียดจากการขาดน้ำเป็นระยะเวลา 25 - 40 วัน และปริมาณน้ำที่เพียงพอหลังจากผ่านสภาวะเครียด ในส่วนของคุณภาพผลผลิตจะขึ้นอยู่กับการจัดการภายในแปลง คือ การจัดการน้ำและการตัดแต่งช่อดอกซึ่งพบว่าแปลงที่มีการตัดแต่งช่อดอก จะมีผลผลิตที่ดีกว่าแปลงที่ไม่มีการตัดแต่ง

          สำหรับการทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนชอนเปลือกลองกองโดยชีววิธีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทดสอบเทคโนโลยีมี 2 กรรมวิธี กรรมวิธีที่ 1 (กรรมวิธีทดสอบ) ใช้ไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา 50 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระยะผลลองกองมีขนาดผลเท่ามะเขือพวง ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 15 วัน พ่นตามกิ่งและล้าต้นให้เปียกชุ่ม กรรมวิธีที่ 2 (กรรมวิธีเกษตรกร) พ่นไซเปอร์เมทธิล (cypermethrin) 35%EC อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ระยะผลลองกองมีขนาดผลเท่ามะเขือพวง ดำเนินการในปี 2557 - 2559 แปลงเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่าหนอนชอนเปลือกลองกองที่พบการระบาดในแปลงลองกองของเกษตรกรทั้ง 2 จังหวัด มี 3 ชนิด ได้แก่ หนอนชอนเปลือกขนาดใหญ่ (Cossus sp.) หนอนชอนเปลือกขนาดกลาง (Prasinoxena sp.) และหนอนชอนเปลือกขนาดเล็ก (Decadarchis sp.) และการทดสอบเทคโนโลยี การใช้สารชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยกำจัดหนอนชอนเปลือกลองกองอัตรา 50 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตร พบว่าทำให้หนอนชอนเปลือกลองกองตายมากกว่า 70 %


ไฟล์แนบ
.pdf   31_2559.pdf (ขนาด: 3.05 MB / ดาวน์โหลด: 579)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม