การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
#1
การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
ศรินณา ชูธรรมธัช, บุญณิศา ฆังคมณี, โสพล ทองรักทอง, ลักษมี สุภัทรา, มนต์สรวง เรืองขนาบ, สุนีย์ สันหมุด, โนรี อิสมาแอ, ไพศอล หะยีสาเละ และจิตต์ เหมพนม
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี

          ไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ลองกองและมังคุด พบว่ามีปัญหาทางด้านคุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน ลองกอง มีปัญหาคุณภาพผิวเปลือก เนื่องจากการทำลายของศัตรูพืช การไม่ติดดอกและไม่ติดผลเนื่องสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน ส่วนมังคุด ผลผลิตคุณภาพต่ำผิวลาย เนื่องจากการทำลายของเพลี้ยไฟ ขายไม่ได้ราคา เกษตรกรขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม โครงการนี้จึงดำเนินการเพื่อทดสอบวัสดุห่อผลต่างๆ และช่วงเวลาการห่อผลลองกองที่เหมาะสมในการเพิ่มคุณภาพผิวและผลลองกองให้ปราศจากเชื้อราดำ ผลเน่าเนื่องจากแมลงวันผลไม้ และการทำลายของค้างคาว วิธีการที่เหมาะสมในการชักนำการออกดอกของลองกองในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อศึกษาถึงการระบาดของเพลี้ยไฟและวิธีการลดการใช้สารเคมีในการกำจัดเพลี้ยไฟมังคุดได้ในสภาพสวนเดี่ยวและสวนผสม และเพิ่มมูลค่าผลผลิตมังคุดได้ ดำเนินการตั้งแต่ตุลาคม 2556 - กันยายน 2559 สถานที่ดำเนินการวัสดุห่อผลและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการห่อผลลองกองแปลงเกษตรกรจังหวัดสงขลา สตูล การชักนำการออกดอกลองกอง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี มังคุดแปลงเกษตรกรปลูกมังคุดสวนเดี่ยวและสวนผสมจังหวัดสงขลา วิธีดำเนินการ วัสดุห่อผลลองกอง วางแผนการทดสอบวัสดุห่อผลแบบ Randomized Completely Block Design (RCB) 5 กรรมวิธี คือ 1)ไม่มีการห่อผล (ควบคุม) 2) ถุงตาข่ายไนล่อน 3) ถุงผ้าตาข่าย 4) ถุงพลาสติกหูหิ้ว และ 5) ถุงกระดาษเคลือบไข การทดสอบช่วงเวลาห่อผลที่เหมาะสมวางแผนการทดสอบ Randomized Completely Block Design (RCB) 4 กรรมวิธี จังหวัดสงขลา 5 กรรมวิธี จังหวัดสตูล ห่อผลด้วยถุงตาข่ายไนลอนที่ช่อผลลองกองอายุ 5 สัปดาห์ 6 สัปดาห์ 7 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์ และไม่มีห่อผล (จ.สตูล) การศึกษาเทคโนโลยีการกำจัดเพลี้ยไฟในมังคุดให้มีคุณภาพในระบบปลูกสวนเดี่ยวและสวนผสมใน จังหวัดสงขลา ดำเนินการ ปี 2556 - 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายและการระบาดของประชากรเพลี้ยไฟ เพื่อกำจัดเพลี้ยไฟและลดเปอร์เซ็นต์การทำลายผลผลิต และศึกษาอิทธิพลของร่มเงาต่อการระบาดของเพลี้ยไฟการศึกษาเพื่อหาแนวทางการกำจัดเพลี้ยไฟในแปลงมังคุดสวนเดี่ยว และสวนผสม จำนวน 2 แปลง วางแผนการทดลองแบบ RCBD มี 3 กรรมวิธี 7 ซ้ำ คือ 1) ไม่มีการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ (ควบคุม) 2) ฉีดพ่นด้วยน้ำ 5 ลิตร/ต้น 3) กับดักสเปรย์กาวเหนียว 4 กับดัก/ต้น การศึกษาเพื่อหาแนวทางในการชักนำให้ต้นลองกองมีการออกดอกได้ตามปกติและให้ผลผลิตสม่ำเสมอได้ทุกปี ใช้ต้นลองกองที่มีอายุประมาณ 20 ปี จำนวน 20 ต้น ซึ่งมีขนาดความสูงของต้นและความกว้างของทรงพุ่มสม่ำเสมอ วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely randomized design, CRD) มี 4 กรรมวิธี จำนวน 5 ซ้ำ ได้แก่ 1.ไม่มีการชักนำ (ควบคุม) 2.ตัดรากบริเวณชายพุ่มให้ลึกเข้ามาจากบริเวณชายพุ่มประมาณ 1/6 ของความยาวรัศมีและลึก 20 เซนติเมตร (ทำให้พื้นที่ใต้ทรงพุ่มลดลงไป 30%) (เดือนกุมภาพันธ์) 3.รัดกิ่งก่อนออกดอก (เดือนกุมภาพันธ์) โดยเลือกกิ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 – 4.0 เซนติเมตร จำนวน 3 กิ่ง/ต้น แล้วใช้ลวดขนาด 2.0 มิลลิเมตรในการรัด และ 4.ควั่นลำต้นที่ระดับ 30 เซนติเมตรจากพื้นดิน (เดือนกุมภาพันธ์) โดยความกว้างของรอยควั่น มีขนาด 3.0 เซนติเมตร (ดำเนินการป้องกันกำจัดโรคโดยทาสารเคมีป้องกันเชื้อราที่อาจจะทำลายที่รอยควั่น) ผลการทดสอบพบว่า ทดสอบความเหมาะสมของวัสดุห่อผลที่มีต่อคุณภาพต่างๆ ของผลผลิตลองกอง พบว่าคุณภาพผลผลิตภายในผล ได้แก่ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TA) และอัตราส่วนระหว่าง TSS:TA ไม่มีผลเด่นชัดจากการห่อผลและความแตกต่างของวัสดุห่อ การห่อด้วยถุงตาข่ายไนล่อน มีเปอร์เซ็นต์ผลเน่า พบแมลง และการเกิดเชื้อรา น้อยกว่าวัสดุห่อชนิดอื่นๆ แม้ว่าการห่อด้วยถุงกระดาษเคลือบไขจะทำให้สีผิวผลมีค่าความสว่าง (L*) มากกว่ากรรมวิธีอื่นๆ ก็ตาม จังหวัดสตูลพบว่า การห่อผลในทุกกรรมวิธีสามารถป้องกันการทำลายของค้างคาว ผิวสวย สะอาด และอัตราการเจริญของผลสูงขึ้น ซึ่งการห่อด้วยถุงตาข่ายไนล่อนให้ผลที่ดีที่สุด แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีอื่นๆ โดยสามารถลดการทำลายของโรคราดำ การเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ เพลี้ยแป้ง และมดได้ สรุปผลการทดสอบวัสดุห่อผลลองกองที่เหมาะสมทั้งจังหวัดสงขลาและสตูล คือถุงตาข่ายไนล่อน เพราะถุงที่ใช้ห่อไม่มีความเสียหาย เกษตรกรสามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง ใช้สะดวก หาได้ง่าย ทนทาน และยังสามารถสังเกตว่าผลลองกองพร้อมเก็บเกี่ยวหรือยัง นอกจากนี้ถุงตาข่ายไนล่อนยังได้รับการยอมรับจากเกษตรกรผู้ใช้งานโดยตรง ผลการทดสอบช่วงเวลาที่เหมาะสมในการห่อผลลองกองพบว่าพบว่า ถุงตาข่ายไนล่อนที่เลือกนำมาใช้ห่อผลลองกองในครั้งนี้สามารถนำมาห่อผลลองกองได้ในทุกช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงอายุ 5 ถึง 8 สัปดาห์หลังดอกบาน เพราะไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ทั้งคุณภาพผลภายนอกและคุณภาพผลภายใน แต่การห่อผลในช่วงอายุ 5 สัปดาห์หลังดอกบาน มีแนวโน้มที่พบว่าน้ำหนักผลผลิต ความยาวช่อผล ความสว่างของผล สูงกว่าการห่อที่ช่วงเวลาอื่นๆ รวมถึงพบว่ามีเปอร์เซ็นต์ผลเน่าเสียน้อยที่สุด ดังนั้นการห่อผลในช่วงอายุ 5 สัปดาห์หลังดอกบาน จึงน่าจะเหมาะสมต่อการห่อผลลองกองเพื่อเพิ่มคุณภาพผลในจังหวัดสงขลา สตูลจากผลการทดลองพบว่าช่วงเวลาห่อผลตั้งแต่อายุ 5 - 8 สัปดาห์หลังดอกบาน ให้ผลไม่แตกต่างทางสถิติต่อการเน่าเสียของผล การเกิดโรคราดำ แมลงวันทอง มด และเพลี้ยแป้ง แต่มีแนวโน้มว่าการใช้ถุงตาข่ายไนล่อนสามารถป้องกันการเข้าทำลายของค้างคาวได้ นอกจากนั้นยังพบว่าคุณภาพของผลทางด้านกายภาพ ได้แก่ ค่า (L*) ค่า (a*) ค่า (b*) ขนาดความยาวช่อผล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผล และคุณภาพทางด้านเคมี ได้แก่ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TA) และค่าสัดส่วนTSS/TA ทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างทางสถิติเช่นเดียวกัน สรุปได้ว่าการห่อผลลองกองด้วยถุงตาข่ายไนล่อนสามารถช่วยลดการเข้าทำลายของค้างคาว และสามารถห่อได้เมื่อลองกองมีอายุตั้งแต่ 5 - 8 สัปดาห์หลังดอกบาน

          ผลการทดสอบการชักนำการออกดอกลองกอง จังหวัดนราธิวาส ปี 2557 และ 2559 พบว่าต้นลองกองทุกกรรมวิธีมีการออกดอก ในปี 2557 ต้นลองกองที่ไม่มีการชักนำ มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ในปี 2558 พบว่าต้นลองกองที่รัดกิ่ง มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น และในปี 2559 พบว่าต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น จากการศึกษาปริมาณผลผลิตของต้นลองกองในแต่ละกรรมวิธี พบว่าในปี 2557 ต้นลองกองที่ตัดรากบริเวณชายพุ่ม มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ในปี 2558 พบว่าต้นลองกองที่รัดกิ่ง มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น และในปี 2559 พบว่าต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด คือ 32.00 ช่อ ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับต้นลองกองที่รัดกิ่ง ซึ่งมีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ย คือ 31.20 ช่อ แต่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น จังหวัดยะลา พบว่าในปี 2557 การออกดอก พบว่า ต้นลองกองทุกกรรมวิธีมีการออกดอก โดยในปี 2557 ต้นลองกองที่ไม่มีการชักนำ มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับต้นลองกองที่ตัดรากบริเวณชายพุ่ม แต่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ในปี 2558 พบว่าต้นลองกองที่ไม่มีการชักนำ มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น และในปี 2559 พบว่าต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น จากการศึกษาปริมาณผลผลิตของต้นลองกองในแต่ละกรรมวิธี พบว่าในปี 2557 ต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับต้นลองกองที่ไม่มีการชักนำ แต่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ในปี 2558 พบว่าต้นลองกองที่ไม่มีการชักนำ มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น และในปี 2559 พบว่าต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับต้นลองกองที่รัดกิ่ง แต่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น จังหวัดปัตตานี พบว่าต้นลองกองทุกกรรมวิธีมีการออกดอก โดยในปี 2557 ต้นลองกองที่รัดกิ่ง มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ในปี 2558 พบว่า ต้นลองกองที่ตัดรากบริเวณชายพุ่ม มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น และในปี 2559 พบว่าต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อดอก/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ปริมาณผลผลิตของต้นลองกองในแต่ละกรรมวิธี ในปี 2557 พบว่าต้นลองกองที่รัดกิ่ง มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ในปี 2558 พบว่า ต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น และในปี 2559 พบว่า ต้นลองกองที่ควั่นลำต้น มีจำนวนช่อผล/ต้นเฉลี่ยสูงสุด มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น ส่วนคุณภาพผลผลิตลองกองด้านอื่นๆ ได้แก่ น้ำหนัก/ช่อ, ความยาวช่อ, จำนวนผล/ช่อ และน้ำหนัก/5 ผล ทั้ง 3 แห่ง พบว่าคุณลักษณะของคุณภาพผลผลิตลองกองในแต่ละกรรมวิธีปรากฏผลไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เนื่องจากการทดลองครั้งนี้ไม่ได้มีการจัดการด้านคุณภาพ คือการตัดแต่งช่อดอก การตัดแต่งช่อผล และการยึดช่อ ซึ่งการจัดการด้านคุณภาพนั้นสามารถดำเนินการในภายหลังได้เมื่อทราบกรรมวิธีที่เหมาะสมแล้ว แต่ต้นลองกองที่รัดกิ่ง (จังหวัดนราธิวาส และยะลา) การควั่นลำต้น (ปัตตานี) มีแนวโน้มที่จะให้คุณลักษณะของคุณภาพผลผลิตดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น

          พัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการจัดการเพลี้ยไฟมังคุดพบว่า มังคุดสวนเดี่ยวมีประชากรเพลี้ยไฟและการระบาดสูงกว่าแปลงมังคุดสวนผสม โดยช่วงแตกใบอ่อนและช่วงออกดอกมีปริมาณเพลี้ยไฟและการระบาดสูงกว่าช่วงติดผล ชนิดของเพลี้ยไฟที่พบมี 2 ชนิด คือ Scirtothrips dorsalis Hood และ Scirtothrips oligochaetus Kamy และยังพบแมลงศัตรูธรรมชาติในแปลงมังคุดสวนผสม จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ แมลงช้างปีกใส (Chrysopa basalis) และแมลงหางหนีบ (Proreus simulans staiien) สำหรับการป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟพบว่า การใช้สเปรย์กับดักกาวเหนียว และการใช้น้ำฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่ม สามารถลดปริมาณเพลี้ยไฟและเปอร์เซ็นต์การทำลายของเพลี้ยไฟในทุกระยะการเจริญของมังคุดได้ โดยมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ซึ่งช่วงแตกใบอ่อนลดการทำลายเพลี้ยไฟได้ 21.08 - 55.25% ช่วงออกดอกลดการทำลายเพลี้ยไฟได้ 5.98 - 29.52% และช่วงติดผลลดการทำลายเพลี้ยไฟได้ 10.79 - 34.38% และสามารถลดปริมาณผลผลิตที่ถูกทำลายได้ 78.8% (มังคุดสวนเดี่ยว) 91.7% (มังคุดสวนผสม) และยังพบว่าอิทธิพลของร่มเงา สภาพภูมิอากาศ มีผลต่อปริมาณประชากรเพลี้ยไฟ โดยแปลงมังคุดสวนผสม (18.90 ± 4.83 ตัว) พบจำนวนประชากรเพลี้ยไฟน้อยกว่าแปลงมังคุดสวนเดี่ยว (56.81 ± 11.96 ตัว) มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง (p<0.01) สรุปได้ว่าการปลูกมังคุดแบบสวนผสม การใช้กับดักสเปรย์กาวเหนียวและการฉีดน้ำบริเวณทรงพุ่ม เป็นแนวทางหนึ่งในการลดปริมาณการระบาดและการเข้าทำลายผลผลิตมังคุดของเพลี้ยไฟได้ นำไปสู่การผลิตมังคุดปลอดสารพิษ


ไฟล์แนบ
.pdf   35_2559.pdf (ขนาด: 4.37 MB / ดาวน์โหลด: 557)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม