การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน
ประนอม ใจอ้าย, วิภาดา แสงสร้อย, มณทิรา ภูติวรนาถ, สนอง อมฤกษ์, สุทธินี เจริญคิด, พรรณพิมล สุริยะพรหมชัย, รณรงค์ คนชม, นิพัฒน์ สุขวิบูลย์และอุทัย นพคุณวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1

          ห้อมเป็นไม้พุ่มที่ขึ้นในป่าธรรมชาติของภาคเหนือตอนบน ใช้เป็นวัตถุดิบย้อมผ้าหม้อห้อมจนเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ ห้อมจะสกัดจากต้นและใบ เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอสำหรับย้อมสีผลิตภัณฑ์ชุมชน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่จึงได้รวบรวม จำแนกและเปรียบเทียบพันธุ์ วิจัยพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตห้อมและเนื้อห้อม ตลอดจนขยายผลงานวิจัยดังกล่าวสู่เกษตรกรในชุมชนภาคเหนือตอนบนตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ผลการดำเนินงานดังกล่าวพบว่า ห้อมจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ ห้อมใบใหญ่ Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze และห้อมใบเล็ก  Strobilanthes sp. ตามลักษณะพฤกษศาสตร์และลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ห้อมสองกลุ่มมีการเจริญเติบโตไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มใบใหญ่ให้เนื้อห้อมและสารอินดิโก้มากกว่ากลุ่มใบเล็ก ระยะปลูกห้อมที่เหมาะสม คือ 50 x 60 ซม. ซึ่งให้ผลผลิตห้อมสด 1,212 กก./ไร่ การพรางแสงด้วยตาข่ายสีดำที่ 70% ให้ผลผลิตห้อมสด 3,315 กก./ไร่ อายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 9 เดือน ซึ่งให้ผลผลิตห้อมสด 4,592 กก./ไร่ ช่วงเวลาเก็บใบห้อมที่เหมาะสม คือ เวลา 07.00 - 11.00 น. ไม่แตกต่างกันและให้เนื้อห้อม 421 - 463 กก./ไร่ การพัฒนาเครื่องกวนน้ำห้อมได้เครื่องต้นแบบที่ทำงานเร็วกว่าใช้แรงงานคน 3.7 เท่า เมื่อทดสอบเทคโนโลยีการผลิตห้อมในแปลงเกษตรกร 10 รายในจังหวัดแพร่ พบว่ากรรมวิธีทดสอบเก็บเกี่ยวห้อมสดได้ 4 ครั้ง/ปี ได้ผลผลิตห้อมสด 3,844 กก./ไร่ ผลผลิตเนื้อห้อม 769 กก./ไร่ และผลตอบแทน 31,373 บาท/ไร่ ส่วนกรรมวิธีเกษตรกรเก็บเกี่ยวห้อมสดได้ 2 ครั้ง/ปี ได้ผลผลิตห้อมสด 1,773 กก./ไร่ ผลผลิตเนื้อห้อม 355 กก./ไร่ และผลตอบแทน 12,819 บาท/ไร่ ได้เริ่มทำแปลงต้นแบบเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตห้อม 12 ราย ซึ่งต่อมาได้ขยายผลสู่โครงการ 9101 อีก 52 ราย มีเกษตรกรและผู้สนใจมาศึกษาดูงาน 2,298 ราย สนับสนุนต้นพันธุ์ห้อมให้เกษตรกรและผู้สนใจ 15,286 ต้น ปัจจุบันกำลังขยายผลตามแผนพัฒนาจังหวัดแพร่สู่เกษตรกร 150 ราย พื้นที่ 75 ไร่ ดังนั้นจึงถือว่างานวิจัยนี้ได้พัฒนาห้อมจากพืชป่ามาเป็นพืชปลูกเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้แก่เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการย้อมผ้าห้อมไม่ให้สูญหายต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   8_2560.pdf (ขนาด: 2.31 MB / ดาวน์โหลด: 749)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม