ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก
#1
ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก
อานนท์ มลิพันธ์

          การวิจัยทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก เพื่อศึกษาหาพันธุ์ วิธีการเขตกรรม และการใช้อัตราปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินในพื้นที่จังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยการทดสอบพันธุ์มันสำปะหลังในพื้นที่อับฝนจังหวัดลพบุรี พบว่าพันธุ์ระยอง 72 เป็นพันธุ์ที่มีอัตราการอยู่รอดหลังปลูกสูง และมีศักยภาพให้ผลผลิตหัวสดต่อไร่สูง ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ช่วงอายุ 8 - 9 เดือนหลังปลูก แต่ควรเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูแล้งและช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตควรปราศจากการตกของฝน เพื่อให้มีปริมาณแป้งในหัวสดสูงขึ้น ในขณะที่การทดสอบพันธุ์และปุ๋ยเคมีกับการผลิตมันสำปะหลังในสภาพดินทรายและดินร่วนปนทรายเขตจังหวัดนครสวรรค์ พบว่าการเลือกใช้พันธุ์ระยอง 86-13 และการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินในพื้นที่เกษตรกร ซึ่งในสภาพดินทรายควรใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 16-4-16 กก. N-P2O5-K2O ต่อไร่ ส่วนในดินร่วนทรายควรใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 16-4-8 กก. N-P2O5-K2O ต่อไร่ ทำให้ผลผลิตหัวสดต่อไร่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมีต้นทุนต่ำกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร ส่งผลให้รายได้ต่อพื้นที่ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น สำหรับการทดสอบพันธุ์และปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับการผลิตมันสำปะหลังจังหวัดอุทัยธานี พบว่าการเลือกใช้พันธุ์ระยอง 86-13 และใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินในสภาพดินร่วนปนทรายส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีที่อัตรา 16-4-8 กก. N-P2O5-K2O ต่อไร่ ทำให้ผลผลิตหัวสดต่อไร่เพิ่มขึ้น และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรทำให้ต้นทุนต่ำกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น จากการด าเนินงานโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกในระหว่างปี 2559 - 2561 สรุปผลได้ดังนี้ (1) ปลูกใช้ต้นพันธุ์ที่สดใหม่ไม่เกิน 15 วันหลังตัด (2) เลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (คุณสมบัติของดิน สภาพอากาศ และพฤติกรรมช่วงการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร) และ (3) ใช้อัตราปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ต้นแบบการผลิตมันสำปะหลังที่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตหัวสดต่อไร่สูงขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพเพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตลดลง รวมทั้งนำเทคโนโลยีจากแปลงทดสอบเผยแพร่ขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้มันสำปะหลังพันธุ์ดี และปรับวิธีการผลิตในแนวทางของแปลงต้นแบบต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   54_2560.pdf (ขนาด: 2.12 MB / ดาวน์โหลด: 696)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม