วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) ในพริกเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุด
#1
วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) ในพริกเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง
วิทยา บัวศรี, มัลลิกา ทองเขียว, ภาสินี ไชยชนะ และปกป้อง ทะนันชัย
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          การวิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) ในพริก เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง วางแผนการทดลองแบบ supervised residue trial ตาม Codex Guidelines ทำการทดลอง จำนวน 3 แปลงต่างพื้นที่กัน แปลงที่ 1 อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในปี 2563 แปลงที่ 2 อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี และแปลงที่ 3 อ.เมือง จ.นครปฐม ในปี 2564 แต่ละแปลงทดลองมี 2 การทดลองย่อย คือ การทดลองย่อยที่ 1 เป็นแปลงควบคุม และแปลงทดลองย่อยที่ 2 เป็นแปลงที่พ่นสารตามคำแนะนำ คือ indoxacarb 15% W/V EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร อัตราการใช้น้ำ 80 ลิตรต่อไร่ ทำการทดลองในพริกหนุ่ม พันธุ์หยกสวรรค์ และพริกจินดา พันธุ์ซูเปอร์ฮอต โดยพ่นสาร indoxacarb 7 วันต่อครั้ง จำนวน 3 ครั้ง โดยก่อนการพ่นสารทำการสอบเทียบอัตราการไหลของเครื่องพ่นให้สม่ำเสมอตามระบบ OECD-GLP (Good Laboratory Practice) สุ่มเก็บตัวอย่างผลผลิตจากแปลงทดลองที่ระยะเวลาต่างๆ กัน คือ 0 (2 ชั่วโมงหลังการพ่น), 1, 3, 5, 7, 14 และ 21 วัน ภายหลังการพ่นสารครั้งสุดท้าย นำมาวิเคราะห์ปริมาณสารพิษตกค้างของ indoxacarb ในพริก ด้วยวิธีการ QuEChERS ซึ่งทำการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีการแล้ว ตรวจวัดโดยใช้เทคนิค LC-MS/MS พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดจากการทดลองในแปลงที่ 1 – 3 มีค่าดังนี้ 1.16, 1.01, 0.42, 0.20, 0.13, 0.07 และ 0.03 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ระยะเวลาต่างๆ ตามลำดับ ส่วนแปลงควบคุม ตรวจไม่พบสารตกค้างในทุกตัวอย่างของการทดลองทั้ง 3 แปลง ปัจจุบันได้มีการกำหนดค่า Codex MRL ของ indoxacarb (peppers) เท่ากับ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม Japanese MRL (pimento (sweet pepper)) เท่ากับ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ EU MRL (sweet peppers/bell peppers) เท่ากับ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่า MRL indoxacarb ในพริก ดังนั้น ข้อมูลจาการทดลองที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณากำหนดค่า PHI และค่า MRL สารพิษตกค้างของ indoxacarb ในพริกสำหรับประเทศไทยต่อไป เมื่อพิจารณาข้อมูลสารพิษตกค้างกับค่า MRLs แล้ว สามารถระบุให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังการพ่นสารครั้งสุดท้าย 5 วัน ถือว่ามีความปลอดภัย

คำสำคัญ: อินดอกซาคาร์บ พริก และ ค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง


ไฟล์แนบ
.pdf   33. วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) ในพริก.pdf (ขนาด: 347.16 KB / ดาวน์โหลด: 515)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม